GPSC วางเป้าภายใน 5 ปีเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในมืออีก 500MW ทั้งของกลุ่ม PTT พร้อมขยายในลาว-เมียนมา

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 23, 2018 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนธุรกิจช่วง 5 ปี (61-65) จะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 500 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งโรงไฟฟ้าในประเทศจะเป็นการรองรับการเติบโตของโรงงานในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นอกจากนี้ยังมีโอกาสการขยายไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยบริษัทฯมุ่งเน้นการขยายออกไปยังประเทศลาว และเมียนมา โดยในลาวจะเน้นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ส่วนในเมียนมาจะเป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ

นางวนิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการในปีนี้จะออกมาดีกว่าปีก่อน ตามการรับรู้ผลตอบแทนการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 3 แห่งที่ได้เปิดดำเนินการในรูปแบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงปี 60 อีกทั้งบริษัทฯได้วางกลยุทธ์เพิ่มยอดขายไฟฟ้า และน้ำให้เพิ่มมากขึ้น

ในปี 60 โรงไฟฟ้าที่ COD แล้วได้แก่ โรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีนเพาเวอร์ ระยะที่ 2 (IRPC-CP Phase 2) เมื่อเดือน พ.ย.60, โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น 2 (BIC2) เมื่อเดือน มิ.ย.60 และโรงไฟฟ้าอิชิโนเซกิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือน ธ.ค.60 ซึ่งจะส่งผลให้รับรู้ผลการดำเนินงานในปีนี้รับรู้รายได้เต็มปี จากกำลังการผลิตที่มีอยู่ปัจจุบัน 1,530 เมกะวัตต์ รวมถึงบริษัทจะเจรจากับลูกค้าเพื่อจะขายไฟฟ้า และไอน้ำให้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทมั่นใจในปี 62 จะมีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง รวมกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 400 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำลิกขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ ซึ่งทางบริษัทฯถือหุ้นถือหุ้นในสัดส่วน 40% โดยคาดจะกำหนดจ่ายไฟฟ้าในไตรมาส 1/62 ขณะที่โรงไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ที่สปป. ลาว ขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ จะกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไตรมาส 4/62 โดยบริษัทฯถือหุ้นในโครงการดังกล่าวสัดส่วน 25% รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้า CUP4 ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ จะกำหนดจ่ายไฟในช่วงปลายปี 62

ส่วนความคืบหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไออน ขนาด 100 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWH) คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 4/62 โดยโรงงานดังกล่าวจะเป็นเพียงต้นแบบ และจะยังไม่เห็นผลแบบรูปธรรมในเชิงพาณิชย์ในระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มโรงงาน และอุตสาหกรรม ขณะที่การติดตั้งแผงโซลาร์ รูฟท็อฟให้กับสถานีบริการน้ำมัน ปตท.เบื้องต้นได้ก่อสร้างแล้ว 3 แห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ