PTT เล็งทำธุรกิจเทรดดิ้งก๊าซ LNG คาดสรุปภายในปีนี้หลังซื้อจากก๊าซแหล่งโมซิมมิกชัดเจน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 23, 2018 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างการพิจารณาการทำเทรดดิ้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ หลังจากจะสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อ LNG ปริมาณ 2.6 ล้านตัน/ปีจากแหล่งโมซัมบิก ซึ่งปัจจุบันรอความชัดเจนจากกระทรวงพลังงานว่าจะให้ LNG เข้าสู่ระบบ pool gas หรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ให้นำเข้าสู่ระบบ pool gas ปตท.ก็สามารถนำเข้ามาในรูปแบบเชิงพาณิชย์ (commercial) ได้

"เราคาดว่าวอลุ่ม LNG จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะเข้าไปสู่บทสรุปเทรดดิ้งเหมือนธุรกิจน้ำมัน ซึ่งการตัดสินใจทำเทรดดิ้งก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแหล่งโมซัมบิก ซึ่งคิดว่าภายในปีนี้จะเห็นบทสรุปของโมซัมบิกว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ หรือจะซื้อเป็น pol gas หรือ commercial ส่วนการทำเทรดดิ้งของปตท.ก็จะเดินไปคู่กัน"นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ กล่าวว่า การซื้อ LNG เพื่อนำเข้ามาในระบบ pool gas ของภาครัฐ ก็จะสามารถการันตีการรับซื้อที่แน่นอนจากภาครัฐ โดย ปตท.ได้รับเพียงมาร์จิ้นที่ได้จากค่าบริหารจัดการเท่านั้น แต่หากเป็นการทำในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ปตท.ต้องรับความเสี่ยงจากปริมาณการซื้อขาย เพราะ ปตท.จะเป็นผู้ซื้อ LNG ตามสูตรราคาซื้อขายของสัญญา แต่เวลาขาย LNG จะขายในราคาตลาด ซึ่งหากสามารถขายได้ในช่วงที่ราคา LNG ปรับขึ้นก็จะทำให้ปตท.ได้รับกำไร แต่หากราคา LNG ในตลาดปรับตัวลดลง ปตท.ก็จะต้องรับความเสี่ยงเอง

อย่างไรก็ตาม ในด้านการทำเทรดดิ้ง LNG ปตท. ก็มองเห็นถึงศักยภาพคลัง LNG ที่ปตท.มีอยู่และที่อยู่ระหว่างศึกษาจะดำเนินการในอนาคต ขณะที่ก็มีตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ เมียนมา ,กัมพูชา ,อินโดนีเซีย , มาเลเซีย เป็นต้น ส่วนไทยก็จะมีความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นกันจากการที่จะเข้ามาทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง โดยมองในอนาคตราวปี 65-66 ก๊าซจากแหล่งเอราวัณและบงกชจะหายไปราว 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือคิดเป็นปริมาณ LNG ราว 5 ล้านตัน/ปี

ปัจจุบัน ปตท.นำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวที่นำเข้าสู่ระบบ pool gas รวมประมาณ 5.2-5.3 ล้านตัน/ปี โดยมาจากกาตาร์ 2 ล้านตัน/ปี ,เชลล์ 1 ล้านตัน/ปี ,บีพี 1 ล้านตัน/ปี และเปโตรนาส ราว 1.2 ล้านตัน/ปี ขณะที่ยังอยู่ระหว่างมองหาการนำเข้า LNG จากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากแหล่งโมซัมบิก เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ซึ่งก็มีโอกาสที่จะนำเข้าเพื่อรองรับการทำเทรดดิ้งในอนาคตด้วย

สำหรับแหล่งโมซัมบิก มี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ถือหุ้น 8.5% และคาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ในปี 61 และเริ่มผลิต LNG ได้ในช่วงปี 67-68

นายเทวินทร์ กล่าวว่า การทำธุรกิจเทรดดิ้ง LNG ปตท.ยังมองโอกาสการทำธุรกิจเรือขนส่ง LNG ที่จะรับขนส่งจากแหล่งผลิตด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะอยู่ในส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ธุรกิจ LNG ที่ปตท.ดำเนินการอยู่ตั้งแต่การเข้าร่วมผลิตในแหล่งผลิต ,การร่วมทุนในโรงงานผลิต LNG กับเปโตรนาส ซึ่งการเจรจาเพื่อซื้อ LNG รายใหม่ก็จะเน้นการเข้าไปร่วมทุนในแหล่งผลิตด้วย

ปัจจุบันปตท.มีคลัง LNG ที่มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อรองรับการนำเจ้า LNG และแปลงสภาพเป็นก๊าซฯ ขนาด 10 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างขยายเป็น 11 ล้านตัน/ปี ,การก่อสร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 ที่หนองแฟบ จ.ระยอง อีก 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งคลังนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายได้อีก 7.5 ล้านตัน/ปีในอนาคตด้วย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit)ในเมียนมา ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ร่วมทุนหลายรายและรัฐบาลเมียนมา , คลัง FSRU ภาคใต้ ที่จะนะ หรือขนอม เป็นต้น

นายเทวินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Discruptive Technology) ปตท.ก็ได้เตรียมปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยดำเนินกานในรูปแบบกลยุทธ์ 3D ได้แก่ Decide Now ซึ่งเป็นการเร่งตัดสินใจการลงทุนเพื่อการเติบโต โดยมุ่งเน้นความชำนาญในธุรกิจปัจจุบัน และต่อยอดธุรกิจเดิม เช่น การลงทุนในรูปแบบห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า (Electricity Value Chain) รวมถึงการสนใจเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือดีลเลอร์รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งน่าจะชัดเจนในปีนี้ ,LNG Value Chain ,การขยายสถานีบริการปตท.และร้านคาเฟ่ อเมซอนไปยังต่างประเทศ โดยตั้งเป้าจะใช้เงินลงทุนราว 70% ของเงินลงทุนทั้งหมดในช่วง 5 ปี

DO Now เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยการเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement) ซึ่งจะใช้งบลงทุนรองลงมา ซึ่งในปีที่ผ่านมากลุ่มปตท.สามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี (EBIT) ได้ราว 3 หมื่นล้านบาท และปีนี้จะพยายามทำให้มากกว่าในปีที่แล้ว

Design now ลงทุนใน New S-Curve เพื่อการเติบโตในระยะยาว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกตามทิศทางเทคโนโลยีใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ