นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาทำให้เปลี่ยนวิถีชีวิตและรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต โดยในอุตสาหกรรมพลังงานก็จะเปลี่ยนวิธีการผลิตพลังงาน การใช้พลังงาน รวมถึงชนิดพลังงานพอสมควร ทำให้ปตท.ต้องปรับตัวเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไป
"ด้วยความก้าวหน้าของการวิจัยและต้นทุนเทคโนโลยีที่ลดลง ความเป็นห่วงเรื่องสภาพแวดล้อมของโลก ทำให้การใช้พลังงานจากน้ำมัน ก๊าซฯ ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล การเติบโตก็จะลดลงเรื่อยๆ และถึงจุดที่จะมีการใช้พลังงานทดแทนรูปแบบอื่นๆเข้ามาทดแทน การผลิตพลังงานทดแทนก็จะผ่านรูปแบบการผลิตไฟฟ้าไปใช้ต่อ ก็จะทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบอื่นๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทิศทางการบริหารจัดการไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้า การจัดหา energy storage การชาร์จไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจน้ำมันและก๊าซฯ ก็ยังมีอนาคตสักพัก น้ำมันยังมีสัดส่วนการใช้อยู่ 10-20 ปีในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็จะยังเติบโตสักพักก่อนจะชะลอตัวลง ส่วนก๊าซฯมองว่าจะยังเติบโตได้ระยะยาวกว่าน้ำมัน"นายเทวินทร์ กล่าว
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ธุรกิจไฟฟ้าจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆในของห่วงโซ่ธุรกิจ ทำให้ปตท.เข้าไปศึกษาในหลายมุมของธุรกิจ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ พลังงานทดแทน การเข้าไปลงทุนในบริษัทวิจัยด้านแบตเตอรี่ รวมถึงลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในเทคโนโลยีทั่วโลกที่เกี่ยวกับด้านแบตเตอรี่ เพื่อหาโอกาสที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด การลงทุนสถานีอัดประจุ รวมถึงได้หารือกับผู้ที่สนใจจะผลิตรถไฟฟ้า ผลิตแบตเตอรี่ ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุ ในสถานีบริการน้ำมัน หลายราย ซึ่งพวกนี้จะเป็นห่วงโซ่ธุรกิจที่จะมีผลต่ออนาคตพลังงานของประเทศและของโลก
สำหรับในส่วนของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้านั้นก็เป็นการศึกษาที่ได้หารือแลกเปลี่ยนกับบริษัทรถยนต์หลายแห่ง และศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีความชัดเจนบ้าง การให้ความสนใจเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าเพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชื่อมโยงกับสถานีบริการน้ำมันปตท.และผู้ใช้รถยนต์ ทำให้มีดีลเลอร์หลายรายให้ความสนใจว่าถ้าจะมาเชื่อมโยงกับปตท.ได้ที่จะนำเอารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเพื่อให้เกิดมีการใช้มากขึ้นก็จะทำให้เกิดโอกาสของความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งปตท.ก็ได้หารืออยู่กับหลายราย
อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ให้ความสำคัญก่อนคือเรื่องของธุรกิจแบตเตอรี่ ที่จะลงทุนในเรื่องโรงงานแบตเตอรี่ หรืองานวิจัยเรื่องแบตเตอรี่อื่นๆมาประกอบกัน ซึ่งปัจจุบันปตท.มีบริษัทในกลุ่มที่เข้าไปลงทุนในเทคโนโลยีแบตเตอรี่แล้ว ปตท.ก็อยู่ระหว่างหาความร่วมมือหรือร่วมลงทุนกับคนที่มีเทคโนโลยีนี้อยู่ ซึ่งมีหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต
"การที่ปตท.จะเข้าไปอยู่ในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า วัตถุประสงค์เดียวเพื่อให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ และเราก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ปตท.วันนี้เราเปิดกว้าง ในเรื่องของธุรกิจใหม่ S-curve ใหม่ เราไม่ได้จำกัดตัวเราเองว่าจะลงอันใดอันหนึ่งชัดเจน แต่เราทำวันนี้คือเข้าไปศึกษา พูดคุย แลกเปลี่ยนเพื่อเตรียมความพร้อมองค์กร ถ้าอันไหนพูดคุยถึงระดับหนึ่งและเห็นความเหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุนไม่ว่าเป็นความน่าสนใจในการลงทุน หรือเป็นเพราะว่าการลงทุนจะช่วยทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค เราก็จะพิจารณา ณ จุดนั้น แต่วันนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆไม่ว่าจะลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า หรือดีลเลอร์ เรื่องแบตเตอรี่อาจจะชัดเจนมากกว่าที่อยากจะลงทุนอันนี้จริงจัง ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเห็นการร่วมทุนกับคนที่เขาผลิตแบตเตอรี่"นายเทวินทร์ กล่าว
นายเทวินทร์ กล่าวว่า การให้ความสนใจที่จะเข้าไปซื้อเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) เพราะบริษัทในกลุ่มมีศักยภาพที่จะลงทุนได้ โดยให้เข้าซื้อ TOR เพื่อศึกษาว่าจะมีส่วนไหนที่สอดคล้องกับกลุ่มปตท.หรือไม่ แต่เบื้องต้นรถไฟฟ้าก็ต้องมีการใช้ไฟฟ้า ซึ่งกลุ่มปตท.ก็มีผู้ผลิตไฟฟ้าอยู่ก็จะเป็นโอกาสในการเข้าไปเสนอตัวเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และการก่อสร้างขนาดใหญ่ปตท.ก็มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน อีกทั้งโครงการก็อยู่ในเส้นทางที่เข้าไปในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นฐานผลิตหลักของกลุ่มปตท. ด้วย ส่วนโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ นั้นปตท.ยังไม่ได้เข้าไปศึกษา
ด้านนายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิตอล PTT กล่าวว่า สำหรับห่วงโซ่ธุรกิจของแบตเตอรี่นั้นปตท.ได้ศึกษาตั้งแต่ด้าน Materials ตั้งแต่ธุรกิจเหมืองลิเทียม, Components, การผลิตแบตเตอรี่ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, Module & Packs, Users ซึ่งจะเป็นสถานีอัดประจุ ส่วนสุดท้ายเป็นการรีไซเคิลของธุรกิจแบตเตอรี่ เพื่อดูว่าการลงทุนใดมีความเหมาะสมและมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ และสุดท้ายเป็นเรื่องของ Smart Grid ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญของห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันได้เซ็นเอ็มโอยูกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อช่วยกันดูเรื่องนี้เพื่อให้เกิด Smart Grid ต่อไป