นายฤทธี กิจพิพิธ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจด้วยการขยายฐานการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ไปยังภูมิภาคอาเซียน โดยจะศึกษาโอกาสการเข้าลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งเปิดกว้างทั้งรูปแบบการเข้าร่วมทุนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ใน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงงานหมุนเวียนได้ตั้งแต่ต้นจนถึงกระบวนการจำหน่ายไฟฟ้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขายไฟ
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เข้าซื้อกิจการบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP Thailand) มูลค่า 1,234.88 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้น 30% โดย GEP Thailand เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท GEP Myanmar จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาให้เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เมืองมินบู และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) บริษัท Electric Power Generation Enterprise จำกัด (EPGE) ระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี
โครงการดังกล่าวถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งที่ 5 ของ SCN ซึ่งหากรวมกับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บางภาษี จังหวัดนครปฐม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ V.O.Net ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จะส่งผลให้ SCN มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 226.1 เมกะวัตต์
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มินบู มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มูลค่าโครงการ 292.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 MW ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอัตรา 0.1275 เหรียญสหรัฐ/กิโลวัตต์/ชั่วโมงตลอดอายุสัญญา 30 ปี แบ่งการพัฒนาเป็น 4 เฟส คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขาย (SCOD) 50 เมกะวัตต์แรกภายในไตรมาส 1/62 และจะทยอยก่อสร้างเสร็จทั้งโครงการภายในปี 65 โดย SCN คาดว่าโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10%
นายฤทธี กล่าวว่า บริษัทเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ โดยได้ดำเนินการปิดความเสี่ยงในทุกด้านที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น การทำโปรเจคไฟแนนซ์ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย และประกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองท้องถิ่นจากธนาคารเอ็กซิมแบงก์ รวมถึงทำประกันที่เกิดจากภัยพิบัติที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ และเลือกผู้รับเหมาติดตั้งโซลาร์ฟาร์มที่อยู่ในระดับท็อปของโลก เพื่อการันตีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
"บริษัทต้องการช่วยสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในประเทศเมียนมาร์ให้มีเสถียรภาพเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และยังช่วยให้เกิดการจ้างงานภายในท้องถิ่น อีกทั้งสามารถเพิ่มปริมาณ Carbon Credit ให้กับบริษัทฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการต่อยอดรายได้อีกทางหนึ่งของบริษัทในอนาคต"นายฤทธี กล่าว