นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เป็นสินเชื่อใหม่ในไตรมาส 2/61-ไตรมาส 4/61 รวมกันที่ 1.1-1.2 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ย 3-4 หมื่นล้านบาท/ไตรมาส เพื่อผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของกลุ่มเอสเอ็มอีเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 7%
ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งในไตรมาสแรกที่ผ่านมาพอร์ตไม่ได้เติบโตขึ้น แม้ว่าธนาคารจะปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีใหม่ไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากลูกค้ามีการชำระคืนหนี้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้ธนาคารจะต้องเร่งปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป เพื่อทำให้พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตได้ตามเป้า ซึ่งในปีนี้ธนาคารได้กลับมารุกขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ 500,000 ราย
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนการออกสินเชื่อเอสเอ็มอีประเภทใหม่แบบไม่มีหลักประกันในเร็วๆนี้ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการสินเชื่อนอกระบบและคาดหวังสามารถดึงลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเข้ามาได้ เพราะจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่านอกระบบ แต่ก็ยอมรับว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีแบบไม่มีหลักประกันเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้มีระบบการพิจารณาสินเชื่ออย่างดี มีการประเมินความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่กังวลว่าจะสร้างหนี้เสียเพิ่มขึ้น
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีทั่วไป สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยธนาคารมองว่าสินเชื่อเอสเอึมอีแบบไม่มีหลักประกันเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อนำไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจ และเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อธนาคาร ซึ่งจะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนสินเชื่อเอสเอ็มอีปกติของธนาคารที่ 5.6-6%
นอกจากนี้ธนาคารยังคงเดินหน้าเสริมศักยภาพให้กับลูกค้าของธนาคาร โดยการที่ธนาคารจะขยายศูนย์ Business Center เพิ่มมากขึ้น เพื่อกระจายไปสู่ลูกค้าในทำเลต่างๆ ได้มีการเข้าไปปรึกษาและเรียนรู้จากผู้มีปรสบการณ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยในปีนี้ธนาคารจะขยายศูนย์ Business Center ให้ครบ 50 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ สาขาสยามสแควร์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ สาขาสำเพ็ง สาขาเซ็นทรัลอีสวิลล์ และสาขาหนองมน จ.ชลบุรี พร้อมกับตั้งเป้าขยายศูนย์ Business Center เพิ่มเป็น 200 แห่ง ภายในปี 63 โดยใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 10 ล้านบาท
อีกทั้งธนาคารยังมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เอสเอ็มอี Transform ตัวเองเพื่อพลิกโฉมสู่การเป็นเอสเอ็มอี 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์ "Digital Partnership" เป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจในปี 61 เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีลูกค้าเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ยังต้องการเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัล และยังนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
โดยภายใต้กลยุทธ์ Digital Partnership ธนาคารจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างลูกค้าเอสเอ็มอี กับสตาร์ทอัพผู้ให้บริการด้านต่างๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบออนไลน์เป็นเครื่องมือในการบริการลูกค้า เพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจหรือแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการที่มีอยู่ (pain point) ด้วยต้นทุนที่ถูกลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าบนระบบดิจิทัลที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพลดขั้นตอนและความยุ่งยากทำให้สินค้าถึงมือผู้รับได้อย่างรวดเร็ว องค์ประกอบเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มยอดขายให้กับเอสเอ็มอีต่อไป
ส่วนแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้คาดว่าจะยังทรงตัวที่ 7.6% เท่ากับในระดับปัจจุบันและใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ยังมีแนวโน้มเป็น NPL ส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ กลุ่มโรงสี และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก
ทั้งนี้ ธนาคารไม่มีแผนการตัดจำหน่ายหนี้สูญออกไป แต่จะเน้นการช่วยเหลือลูกค้าในการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าเพื่อทำให้ลูกค้ายังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง