นายพงศ์ธร ธาราไชย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (PPS) เปิดเผยว่า ปริมาณงานของบริษัทตั้งแต่ไตรมาส 2/61 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะงานของภาคเอกชนที่มีออกมามาขึ้น รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเตรียมแผนเข้าไปรับงานในต่างประเทศที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในครึ่งหลังของปีนี้ จึงเชื่อว่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงานโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาได้
อนึ่ง PPS แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/61 มีกำไรสุทธิ 8.73 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14.14 ล้านบาท โดยรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการเริ่มงานโครงการใหม่ ๆขยายระยะเวลาออกไป ขณะที่กำไรสุทธิปรับตัวลดลงจากการชะลอบางโครงการในช่วงต้น และการปรับเงินของพนักงานประจำปี
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะออกมาดีขึ้น จากครึ่งปีแรกที่อาจทำได้ไม่ดีนัก โดยบริษัทคาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีการรับรู้รายงานของงานโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้ามาจากปีก่อน ประกอบกับมีการติดตามงานโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่จะมีการเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการภายใต้เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และงานระบบขนส่งมวลชน
ดังนั้น บริษัทจึงยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตราว 25% และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 10-12% ซึ่งส่วนหนึ่งยังมาจากการขยายธุรกิจเพิ่มเติมอีก 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจการทำราคาและธุรกิจการควบคุมราคา ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่งานในมือ (Backlog) ปัจจุบันอยู่ที่ราว 300 ล้านบาทที่จะทยอยรับรู้รายได้ภายในปีนี้
นายพงศ์ธร เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/61 บริษัทได้เข้าไปรับงานโครงการขนาดใหญ่เพิ่มเติม 2 โครงการทั้งของภาครัฐและเอกชน ได้แก่ งานก่อสร้างและปรับปรุงโครงการเดอะมอลล์ 2 อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเข้าประมูลโครงการงานปรับปรุงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย
สำหรับโอกาสการรับงานในต่างประเทศนั้น บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการเข้ารับงานในต่างประเทศเพิ่มเติม ทั้งใน สปป.ลาว และที่ดูไบในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะเดียวกันก็ได้ม่งเน้นพัฒนามาตรฐานให้เป็นสากลมากขึ้นเพื่อแข่งขันในระดับโลก โดยมีการรับบุคลากรเพิ่มเพื่อให้สามารถรองรับงานต่างประเทศได้ โดยคาดว่าจะเห็นสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 61
พร้อมกันนั้น บริษัทพยายามพัฒนาเทคโนโลยีในทิศทางสอดคล้องกับโลกปัจจุบันจากความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้น โดยบริษัทมีแผนการพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อเป็น smart consultant และมองว่าแอพพลิเคชันดังกล่าวจะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนแผนระดมทุนในรูปแบบ Initial Coin Offering (ICO) ที่เป็นความร่วมมือกับ บริษัท ฟินเทค (ประเทศไทย) จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท โปรฟิน กรุ๊ป จำกัดนั้น นายพงศ์ธร กล่าวว่า คงต้องระงับไว้ก่อนเพื่อรอความชัดเจนจากกฎระเบียบที่จะออกมาภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะประเด็นความคุ้มค่าจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี บริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นมายังมีช่องทางอื่นที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการเจรจาเพื่อสรุปร่วมกันกับพันธมิตร
"เข้าใจว่าคงมีความตั้งใจดีของผู้ออกกฎเกณฑ์ แต่เป็นอุปสรรคการทำธุรกิจประเภทนี้ในประเทศของเรา ซึ่งต้องดูผลดีและผลเสีย ในฐานะผู้ประกอบการมองว่าจะทำให้ทำธุรกิจได้ลำบาก ซึ่งผู้ดำเนินธุรกิจด้วยวิธีนี้อาจจะต้องไม่อยู่ในประเทศไทย ทำให้เราเสียโอกาส"นายพงศ์ธร กล่าว