นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อรวมของธนาคารในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง หลังจากหดตัว 0.51% ในไตรมาส 1/61 ซึ่งจะมาจากสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐที่ทยอยออกมา นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีเริ่มฟื้นตัวกลับมา และมีความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีในช่วงไตรมาส 2/61
ประกอบกับสินเชื่อรายย่อยทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ธนาคาร ได้ปล่อยให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐยังมีทิศทางการขยายตัวได้ดี ขณะที่ธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อในปีนี้เติบโต 6-7%
"เราก็ยังมั่นใจว่าตัวเลขสินเชื่อในไตรมาส 2/61 จะโตขึ้นและดีกว่าไตรมาส 1/61 ซึ่งเดี๋ยวขอดูตัวเลขสินเชื่อในเดือนพ.ค.นี้ก่อน แต่ก็ยอมรับว่า 4 เดือนที่ผ่านมาของเรายังกระเตื้องขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับระบบ เพราะเราไม่ได้รุกในสินเชื่อประเภทลิสซิ่ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่เราชะลอไป ส่วนบัตรเครดิตก็เป็นของทาง KTC ที่ดำเนินงาน ทำให้ 4 เดือนที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่เติบโตใกล้เคียงกับระบบ แต่ยังมองว่าสินเชื่อหลัก ๆ ที่ส่งเสริมให้เราเติบโตได้ยังมาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่เราทำได้ดีมาตลอด สินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลก็ยังเติบโตต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นแล้ว"นายผยง กล่าว
นายผยง กล่าวอีกว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะกลับไปรุกธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีกครั้ง หลังจากที่ธนาคารได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไปก่อนหน้านี้ เพราะมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพหนี้ แต่ปัจจุบันภาพรวมของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ได้กลับมาฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีขึ้น ทำให้ธนาคารกลับมาพิจารณาโอกาสในการกลับไปรุกตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีกครั้ง เพื่อทำให้สินเชื่อของธนาคารกระจายไปในสินเชื่อหลายประเภทมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการดำเนินงานที่ธนาคารต้องใช้ความระมัดระวังและมีความรอบคอบ
ส่วนแผนการลดสาขาของธนาคารนั้นยังเป็นตามที่วางแผนไว้ โดยไตรมาส 3/61 และไตรมาส 4/61 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของสาขาในรูปโมเดลใหม่หรือในรูปแบบ Paperless มากกว่า 10 สาขา ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองแล้ว 2 สาขา คือ สาขาปิ่นเกล้า และสาขานานา ซึ่งช่วยลดเวลาในการทำธุรกรรมได้ถึง 25% ขณะที่การพัฒนาทักษะของพนักงาน ธนาคารได้มีการเตรียมความพร้อมของทักษะเพื่อการขายและบริการในมิติอื่น ๆ โดยเน้นการสร้างความเข้าใจกับลูกค้าในการสู่การบริการด้านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อทำให้การให้บริการของพนักงานมีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อนึ่ง วันนี้บมจ.ปตท. (PTT) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับธนาคาร 9 แห่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารทหารไทย (TMB), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารธนชาต, ธนาคารยูโอบี และธนาคารออมสิน เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนานวัตกรรมด้านการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับความร่วมมือกับ PTT ธนาคารกรุงไทยในฐานะของรัฐ ซึ่งมีพันธกิจหลักในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก็พร้อมเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ Future Banking ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ดีกว่า ถูกกว่า และรวดเร็วกว่า เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้าและประชาชน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจอย่างไร้ขอบเขต โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรระดับประเทศในครั้งนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศไทยสู่ Thailand 4.0
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. กล่าวว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่าง ปตท. กับทั้ง 9 ธนาคาร ถือเป็นความตั้งใจของ ปตท. เพื่อร่วมผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโดยความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้นส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาระบบ และนวัตกรรมทางการเงินของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงาน นำไปสู่การต่อยอดและขยายการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ต่อไป
การลงนามใน "บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม" ครั้งนี้ มีระยะเวลา 2 ปี โดย ปตท. จะร่วมกับธนาคาร ทั้ง 9 แห่ง กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานในการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของทั้งสองฝ่าย ผลักดันการปรับปรุงและพัฒนาระบบทางการเงิน เช่น ระบบการประกันภัย อนุพันธ์ทางการเงิน ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งการปรับปรุง กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การได้รับการสนับสนุนเกื้อกูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันชักชวนคู่ค้าที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน เพื่อต่อยอดและขยายการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ต่อไป