นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) คาดว่ารายได้ปี 61 จะเติบโตเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ระดับ 20-25% จากปีก่อน หลังได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ ในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ (MW) มูลค่าการลงทุน 600 ล้านบาท โดยซื้อจาก บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการ โดยบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจาก 49% เป็น 100% ในบริษัท บี.กริม ยันฮี โซลาร์ จำกัด โดยคาดว่าจะดำเนินการเข้าลงทุนแล้วเสร็จในวันที่ 2 ก.ค.61
หลังจากปรับโครงสร้างการถือหุ้นแล้วเสร็จ BGRIM สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันทีในไตรมาส 3/61 โดยโครงการนี้มีสัญญาขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นเวลา 25 ปี จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่สิ้นปี 58 มีรายได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี ,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีละกว่า 400 ล้านบาท และกำไรสุทธิปีละกว่า 100 ล้านบาท ผลักดันให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ขณะเดียวกันในปี 61 บริษัทคาดว่าขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจะอยู่ที่ระดับ 2,091 เมกะวัตต์ จากแผนการเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้า SPP AMATA B.GRIMM POWER (RAYONG) 4 ขนาด 133 เมกะวัตต์ มีแผน COD ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้, โรงไฟฟ้า SPP AMATA B.GRIMM POWER (RAYONG) 5 ขนาด 133 เมกะวัตต์ มีแผน COD วันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งทั้ง 2 แห่งมีสัญญาขายไฟฟ้า (PPA) ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 25 ปี
โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ NAM CHE 1 HYDRO POWER PROJECT ในลาว กำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ภายในไตรมาสที่ 4/61 และโรงไฟฟ้าโซลาร์ Solar WVO-Cooperatives ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 31 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่ม COD ได้ในวันที่ 3 ธ.ค.61
อย่างไรก็ดีบริษัทคาดว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/61 จะดีกว่าไตรมาสที่ 1/61 และเติบโตดีอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่าปี 62 จะเติบโตค่อนข้างมาก จากสามารถรับรู้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการ COD โรงไฟฟ้าในปีนี้ได้เต็มปี
ด้านนายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ พัฒนาธุรกิจ ของ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศไว้ที่ระดับ 30% ในปี 65 จากระดับ 6% ในปัจจุบัน และตั้งเป้าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 30% จากเดิมที่ 12% ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 65% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
โดยภายในเดือนมิ.ย.61 บริษัทเตรียมเซ็นสัญญาร่วมทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในเวียดนามและในอาเซียนขนาดกำลังการผลิต 420 เมกะวัตต์ ร่วมกับบริษัท Xuan Cau Co.,Ltd. ดังนั้น จะส่งผลให้แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในส่วนของรายได้และกำไรอันเนื่องมาจากจำนวนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมสรุปการเจรจาเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโรงไฟฟ้าโซลาร์ในเวียดนาม 2 ราย กำลังการผลิตรวมมากกว่า 200 เมกะวัตต์ ประกอบกับยังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออกอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และจะเริ่มมีความชัดเจนในปี 62 โดยเบื้องต้นบริษัทมองโอกาสการขยายในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาโครงการประเภท greenfield อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ไม่ได้ปิดโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A)
ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้มูลค่า 1-1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระหุ้นกู้ชุดเดิมที่ใกล้ครบกำหนด และรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต
"ปัจจุบันยังมองไม่เห็นปัจจัยเสี่ยงหรือความกังวลที่จะเข้ามากระทบการดำเนินการ เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสามารถเดินหน้าได้ตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างดีมากโดยตลอด" นายนพเดช กล่าว