นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิตอล บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมงบเพื่อลงทุนในกองทุนรูปแบบการร่วมลงทุน (Venture Capital) ในปีนี้จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเป้าหมายการลงทุนอย่างน้อย 2 กองทุน เน้นในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ จากปัจจุบันที่ลงทุนรวม 4 กองทุนซึ่งอยู่ในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) คิดเป็นมูลค่าลงทุนเกือบ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้เข้าลงทุนทั้งหมดในปีที่ผ่านมา คิดเป็นเงินลงทุนราว 8-10 ล้านเหรียญสหรัฐ/กองทุน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวนอกเหนือจะได้รับตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ก็ยังมีโอกาสต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ในอนาคตด้วย
สำหรับการลงทุนกองทุนประเภท CVC จะเสมือนรูปแบบของบริษัทที่มองหาทิศทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้วเข้าไปลงทุนด้วย ซึ่งหากธุรกิจนั้นไปได้ก็จะเข้าไปลงทุนเพิ่ม หรือเมื่อมีบุคคลสนใจซื้อก็พร้อมที่จะขายออก ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็นการลงทุนจริงในสตาร์ทอัพนั้น ๆ ซึ่งจะทำได้รวดเร็วกว่าและมีโอกาสการต่อยอดเทคโนโลยีได้ นอกจากนี้คณะกรรมการปตท.ยังได้อนุมัติให้ลงทุนในกองทุนอื่นนอกเหนือจากที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน ทำให้ปตท.ให้ความสนใจที่จะลงทุนในกองทุนพวก Internet of Things (IoT) , ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI), ดิจิทัล เป็นต้น
"ปีนี้วางเป้าว่าจะได้อย่างน้อย 2 กองทุน แต่จะไม่ลง CVC อย่างดียว เราจะดูสตาร์ทอัพด้วย โดยเฉพาะในแถบเอเชียหรือประเทศเรา ไม่ไปทางสหรัฐฯ ยุโรป อย่างเดียว อย่างสตาร์ทอัพคนไทย กลุ่มนี้กำลังทำมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าก็อาจจะช่วยลงทุนได้เป็นสตาร์ทอัพก็จะเร็วกว่า CVC ส่วน 4 กองทุนที่เราลงทุนไปแล้วนั้น มีอยู่หนึ่งกองทุนเขาขายบริษัทหนึ่งไปแล้ว ก็มีกำไรกลับเข้ามาแล้ว"นายวิทวัส กล่าว
นายวิทวัส กล่าวว่า ปตท.ได้รับทราบว่ามีอยู่ 1 กองทุนที่ปตท.ได้เข้าไปลงทุน แล้วกองทุนดังกล่าวเข้าไปถือหุ้นทางอ้อมในบริษัท จีแอลที กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ในไทย นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้กลับมาลงทุนปลายทางซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในประเทศไทย ทำให้มีโอกาสที่จะหารือเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและมีโอกาสลงทุนใหม่ๆตั้งแต่ต้นทางได้
ด้านนายชยพล หลีระพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท จีแอลที กรีน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทได้รับสัญญาการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ให้กับปตท.จำนวน 30 หัวจ่าย 20 สถานี รวมถึงยังมีลูกค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น เซ็นทรัล ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยบริษัทมีผู้ร่วมทุนซึ่งเป็นคนไทย คือบริษัท โพลีเทคโนโลยี จำกัด ถือหุ้น 51% ร่วมกับ Greenlots จากสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ด้านเทคโนโลยีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ถือหุ้นอยู่ 49% โดย Greenlots จะเป็นผู้พัฒนาระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯราว 2 พันแห่งภายใน 2-3 ปีนี้ และยังมีเครือข่ายอีก 17 ประเทศทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อกลางปีที่แล้วกลุ่มปตท.ได้เข้าไปลงทุนใน Greenlots ที่สหรัฐฯทางอ้อม เนื่องจากปตท.ถือหุ้นในกองทุน EIP และ EIP ได้เข้ามาซื้อกิจการ Greenlots ในสหรัฐฯ โดยถือหุ้นมากกว่า 50% ซึ่งการที่บริษัทมีกลุ่มปตท.เข้ามาถือหุ้นนั้นก็จะได้มองโอกาสความร่วมมือต่อกันในอนาคตด้วย
ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจที่จะนำบริษัท โพลีเทคโนโลยี จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อระดมทุนใช้ดำเนินการธุรกิจของบริษัท ที่ให้บริการวางท่อเข้าโรงงาน ,รับปรึกษา, ออกแบบ และสร้างแก่ผู้ประกอบการสถานี NGV ,ติดตั้ง NGV ด้วยอุปกรณ์คุณภาพสูง ,พลังงานทดแทน เป็นต้น
นายณรัตน์ไชย หลีระพันธ์ ประธานบริษัท โพลีเทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ประมาณ 1 พันล้านบาท/ปี การระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อขยายงานด้านพลังงาน เช่น การเตรียมแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเซาท์เทิร์นกรีน 10 เมกะวัตต์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ,การขยายงานระบบติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า รวมทั้งหารือกับ EFACEC แห่งสเปนเพื่อร่วมทุนจัดตั้งโรงงานสถานี Quick Charger ซึ่งจะใข้เวลาชาร์จ 10 นาที โดยจะลงทุนในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจำหน่ายในอาเซียน เพราะขณะนี้ทางโรงงานในสเปนผลิตไม่ทัน