หุ้น SUPER ร่วงลง 29.73% มาที่ 1.04 บาท หรือลดลง 0.44 บาท เมื่อเวลา 15.17 น. โดยราคาหุ้นเปิดตลาดที่ 1.48 บาท ราคาทำระดับสูงสุดที่ 1.52 บาท และทำระดับต่ำสุดที่ 1.04 บาท ขณะที่ล่าสุดเมื่อเวลา 16.02 น.ราคาหุ้นอยู่ที่ 1.05 บาท ลดลง 0.43 บาท หรือลดลง 29.05% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4 พันล้านบาท
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ และตนเองก็ไม่ได้ทำดีลซื้อขายหุ้น SUPER แต่อย่างไร และเมื่อสักครู่ได้หารือกับนายประเดช กิตติอิสรานนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ก็แจ้งว่าไม่ได้ขายหุ้น SUPER ออกมา
ด้านบล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อ SUPER โดยโรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 9 เมกะวัตต์ (MW) ได้เริ่มทดสอบผลิตไฟฟ้าแล้ว คาดสามารถยื่นขอจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในวันที่ 10 มิ.ย. 61 นี้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นบวกจากการขออนุมัติออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 118 MW คาดได้รับเงินจากการขายประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท สำหรับใช้คืนหนี้และพัฒนาโครงการใหม่
ณ สิ้นไตรมาส 1/61 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 740.6 MW มีโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 67.9 MW และมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ในเวียดนามที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกด้วย
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ทิศทางกำไรของ SUPER กำลังเป็นทิศทางบวก ตลอด 3 ไตรมาสที่เหลือในปีนี้ จากกำลังการผลิตใหม่ จากโรงไฟฟ้าขยะ 9 MW โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 28 MW กำลังทยอย COD ตั้งแต่มิ.ย. เป็นต้นไป
ขณะที่ความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) เพื่อนำเงินทุนไปต่อยอดโครงการลมที่ประเทศเวียดนามอีกกว่า 600 MW เริ่มชัดเจนขึ้นมาก หลังจากการรับฟังความคิดเห็นโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สิ้นสุดลงแล้วเมื่อ 18 พ.ค. ซึ่งเปิดโอกาสให้ SUPER สามารถดำเนินการต่อไปได้ทันที
ทั้งนี้ ปรับราคาเหมาะสมขึ้น 27% เป็น 1.40 บาท/หุ้น จากโรงไฟฟ้าซึ่งได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และมีความคืบหน้าจับต้องได้แล้ว 320MW ขณะที่อีก 600MW อยู่ระหว่างเตรียมการ และเป็นโอกาสในอนาคต โดยแนะนำ "ถือ" ลุ้นพัฒนาการต่อไป ขณะที่ในแง่ valuation P/E มีส่วนลดจากกลุ่มพลังงานถึง -19%