บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ที่ ‘BBB+(tha)’ และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกัน ของบริษัทที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตยังคงเป็นลบ
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตดังกล่าวทั้งหมดของ WHAUP ตามแผนพัฒนาธุรกิจของฟิทช์
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง: WHAUP ได้รับประโยชน์จากความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่ต่ำ จากสภาวะการแข่งขันในตลาดที่จำกัด และการมีรายได้ที่มีความสม่ำเสมอจากสัญญาระยะยาวกับลูกค้า ความต้องการของลูกค้าที่ค่อนข้างมีความแน่นอนและสม่ำเสมอช่วยให้ WHAUP มีรายได้ที่มีความสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ ในขณะที่อัตราส่วนกำไรต่อรายได้ (Operating Margin) อยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ เนื่องจากบริษัทสามารถปรับค่าบริการตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทำให้ WHAUP สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังลูกค้าได้ นอกจากนี้ WHAUP ยังเป็นผู้ให้บริการน้ำเพียงรายเดียวในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่ดำเนินการโดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ID ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ
การเติบโตของรายได้: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ WHAUP จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2561 และ 2562 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จากการเริ่มดำเนินงานของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPPs) ในพื้นที่ที่บริษัทฯให้บริการ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าบริการในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นยังเป็นผลมาจากการขายที่ดินที่เพิ่มขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ID ในปี 2561 โดยผู้ประกอบการรายใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมก็จะเป็นลูกค้าที่ใช้บริการน้ำของ WHAUP ด้วย
เงินปันผลรับที่เพิ่มขึ้นจากกิจการร่วมค้า: ฟิทช์คาดว่า WHAUP จะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าจำนวน 1.2 - 1.3 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2561 (ปี 2560 อยู่ที่ 687 ล้านบาท) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเริ่มผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าใหม่ที่ WHAUP ถือหุ้นส่วนน้อย ฟิทช์เห็นว่าเงินปันผลรับจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว ค่อนข้างคาดการณ์ได้ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรองรับอยู่
ความเสี่ยงด้านปริมาณการใช้น้ำ: รายได้ของ WHAUP มีความเสี่ยงในด้านปริมาณการใช้น้ำ เนื่องจากสัญญาซื้อขายน้ำไม่ได้กำหนดปริมาณขั้นต่ำที่ลูกค้าต้องใช้ ดังนั้นการลดลงของปริมาณการใช้น้ำจากการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมการผลิตของลูกค้าอาจทำให้รายได้ของบริษัทฯลดลง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ เชื่อว่าความเสี่ยงนี้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจาก WHAUP มีฐานลูกค้าที่หลากหลาย และลูกค้าหลักของบริษัทฯน่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งจะมีความต้องการใช้น้ำที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการขายน้ำและบำบัดน้ำเสียทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปียกเว้นปี 2558 ซึ่งลดลงเพียงร้อยละ 0.7 ในขณะที่โดยรวมแล้วปริมาณการให้บริการน้ำมีการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมที่ร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2553
การลงทุนที่สูง; อัตราส่วนหนี้สินในระดับปานกลาง: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ WHAUP จะเป็นลบในปี 2561 เนื่องจากการลงทุนที่สูง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Fund Flow From Operation, FFO) ของบริษัทฯที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาทต่อปี อาจจะไม่เพียงพอสำหรับเงินลงทุน และการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามการเติบโตของ FFO จะช่วยให้บริษัท สามารถรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ให้อยู่ในระดับปานกลางที่ระดับ 4.0-4.5 เท่าได้ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
อันดับเครดิตถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของบริษัทแม่: สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและสถานะทางการเงินในระดับปานกลาง ส่งผลให้ WHAUP มีอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) อยู่ที่ A-(tha) ซึ่งสูงกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯสะท้อนถึงความเชื่อมโยงที่สูงกับบริษัทแม่ได้แก่ WHA ซึ่งมีสถานะเครดิตที่อ่อนแอกว่า อันดับเครดิตของ WHAUP จึงถูกจำกัดโดยสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่ซึ่งฟิทช์มีการพิจารณาเป็นการภายใน ตามหลักเกณ์การจัดอันดับเครดิต Parent and Subsidiary Linkage Criteria ของฟิทช์ โดยทั้งสองบริษัทถือว่ามีความเชื่อมโยงกันอยู่ในระดับสูงจาก การที่ WHA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีอำนาจควบคุมใน WHAUP และมีความสามารถในควบคุมนโยบายทางธุรกิจและการเงิน ตลอดจนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และการลงทุนโดยรวมของ WHAUP
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางธุรกิจของ WHAUP มีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตรายอื่นๆ ในประเทศไทย ลักษณะของรายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ WHAUP มีความใกล้เคียงกับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (A+(tha)/Negative) ซึ่งดำเนินการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในท่าอากาศยานหลักของประเทศ และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (A+(tha)/Stable) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าและไอน้ำขนาดกลาง บริษัทเหล่านี้มีรายได้ที่สม่ำเสมอและแน่นอน และสามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากมีการแข่งขันในระดับที่ต่ำ ความต้องการใช้บริการที่สม่ำเสมอและแน่นอน หรือ มีรายได้ที่แน่นอนจากสัญญาระยะยาว อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตโดยลำพังที่ ‘A-(tha)’ ของ WHAUP นั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจาก WHAUP มี อัตราส่วนหนี้สิน (Financial Leverage) ที่สูงกว่า
การจัดอันดับเครดิตของ WHAUP นั้นถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของบริษัทแม่ WHA ซึ่งมีสถานะทางเครดิตที่อ่อนแอกว่า เนื่องจากการเชื่อมโยงกันที่อยู่ในระดับสูงระหว่างบริษัททั้งสอง โดยการเชื่อมโยงกันที่สูงมาจากจากสัดส่วนการถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของ WHA ใน WHAUP และความสามารถของ WHA ในการควบคุมนโนบายทางธุรกิจของ WHAUP รวมถึงสิทธิในการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น, การเลือกตั้งกรรมการบริษัท, การจ่ายเงินปันผล, การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และ การลงทุนโดยรวม
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้จากธุรกิจน้ำเติบโตร้อยละ 19 -23 ต่อปีในปี 2561 และ 2562 จากการเติบโตของความต้องการใช้น้ำและการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าบริการ
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR margin) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 ในปี 2561 และ 2562
- เงินปันผลที่จะได้รับจากการการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 1.2 -1.3 พันล้านบาทต่อปีในปี 2561 และ 2562
- เงินลงทุนอยู่ที่ 300-400 ล้านบาทต่อปีในปี 2561 และ 2562 และภาระผูกพันในการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 1 พันล้านบาทในปี 2561 และ 184 ล้านบาทในปี 2562
- การลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจใหม่ทั้งด้านสาธารณูปโภคและธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 1.5 พันล้านบาทในช่วงปี 2561-2563
- อัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตต่อ WHAUP
ไม่มีเนื่องจากยกเลิกอันดับเครดิต
สภาพคล่อง
สภาพคล่องแข็งแกร่ง: บริษัทฯ มีหนี้สินรวม 7.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 โดยมีส่วนที่เป็นหุ้นกู้ 4 พันล้านบาท ครบกำหนดชำระในปี 2563 โดย บริษัทฯ มีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มใน ปี 2561 นี้เพื่อไปชำระคืนเงินกู้กับธนาคารส่วนที่เหลือจำนวน 3.9 พันล้านบาท