นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการชี้แจงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ว่า แม้จะยังไม่ถึงกำหนดเวลายื่นแสดงความจำนงในการเข้าประมูลคลื่นวันที่ 15 มิ.ย.61 กสทช.ยังเชื่อว่าจะมีผู้เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามที่กำหนดไว้ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ โดยน่าจะมีผู้ประกอบการที่ต้องการคลื่นความถี่ หากไม่มีผู้เข้าประมูลคลื่นความถี่เลยจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับผุ้ประกอบการบางราย โดยหากไม่มีผู้เข้าประมูล กสทช.จะประกาศมาตรการเยียวยา ทำให้ดีแทคมีโอกาสใช้คลื่นความถี่ต่อไปอย่างน้อย 55 MHz (คลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz และคลื่น 850 MHz จำนวน 10 MHz) จนกว่าจะมีผู้ประมูลคลื่นได้ ทั้งนี้ในวันที่ 7 มิ.ย.61 จะตัวแทนบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) เข้าพบเพื่อยื่นเรื่องขอความชัดเจนกรณีดังกล่าว
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการจัดสล็อตคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลที่ กสทช.ได้สร้างสภาวะให้เกิดการแข่งขัน ด้วยการออกแบบการประมูลให้การเคาะราคาคลื่นแต่ละชุดที่ออกไปจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย เช่น ในคลื่นชุดที่หนึ่งถ้า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เข้าประมูลและได้ไป จะได้คลื่นใกล้กับคลื่นที่มีอยู่เดิมเป็นผืนเดียวกัน หากทรูมูฟไม่ร่วมประมูลก็จะเสียโอกาส ขณะที่ถ้าทั้งสองรายเข้าประมูลและได้คลื่นความถี่ไปก็จะสามารถเจรจาสลับคลื่นกันเพื่อให้ได้คลื่นที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
"การเข้าประมูลคลื่นดังกล่าวเป็นสิ่งที่โอเปอเรเตอร์ต้องพิจารณา กสทช.เชื่อว่าได้ออกแบบการประมูลที่ทำไว้ทั้งหมดจะทำให้มีคนมาประมูล ถ้าไม่ประมูลมันจะเกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างผู้ประกอบการ ...ถ้าพลาดคราวนี้จะกระทบกับการแข่งขัน เพราะกว่าจะมีอีกครั้งต้องใช้เวลา อย่าลืมว่าถ้าไม่มีการประมูลจะต้องมีขั้นตอนในการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น รวมระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี กว่าจะมีการประมูลอีกครั้ง" นายฐากร กล่าว