ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร ACAP ที่ "BB" แนวโน้มอันดับเครดิต "คงที่"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 6, 2018 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) ที่ระดับ "BB"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณสมบัติความเสี่ยงของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อขนาดเล็กที่ไม่รับเงินฝาก โดยสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะสั้นมีหลักประกันให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อันดับเครดิตถูกจำกัดด้วยประวัติการดำเนินงานที่ค่อนข้างสั้นในธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวสูง การก่อหนี้สูง รวมถึงความเสี่ยงด้านการจัดหาเงินทุนและสภาพคล่องที่อาจจะเพิ่มขึ้น

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต สินเชื่อมีการกระจุกตัวสูง บริษัทให้บริการสินเชื่อระยะสั้นแก่บริษัท SMEs และบุคคลซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนชั่วคราว บริษัทให้สินเชื่อโดยการปล่อยกู้โดยตรงหรือในรูปของการซื้อตั๋วแลกเงิน (Bills of Exchange หรือ B/Es) ซึ่งออกโดยผู้กู้ ลูกค้าเป้าหมายโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งอาจกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การที่บริษัทมีจำนวนลูกค้าที่ค่อนข้างจำกัด หากเกิดการผิดนัดชำระจากลูกค้าเพียงไม่กี่รายอาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายอื่น ๆ ที่มีฐานลูกค้ากระจายตัวกว่าได้

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องจากการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่อาจไม่สอดคล้องกัน บริษัทมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องในอนาคตจากกระจุกตัวของสินเชื่อและการจัดหาเงินทุน ส่วนต่างที่ติดลบระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกหนี้รายใหญ่บางรายไม่สามารถชำระหนี้คืนได้หรือในกรณีที่บริษัทต้องใช้เวลานานในการจำหน่ายหลักประกัน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 สินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทยังคงมีส่วนต่างที่เป็นบวก โดยมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 5,617 ล้านบาท ขณะที่เงินกู้ยืมรวมเท่ากับ 4,187 ล้านบาท ประมาณ 67% ของเงินกู้ยืมจะครบกำหนดภายใน 1 ปี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 บริษัทไม่มีวงเงินสินเชื่อที่จะปิดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สินได้

แหล่งเงินทุนที่ไม่กระจายตัว บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ เนื่องจากมีแหล่งเงินทุนที่จำกัด ในปัจจุบันบริษัทพึ่งพาฐานทุนและการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินให้แก่นักลงทุนกลุ่มเล็ก ๆ ผ่านการจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) เป็นหลัก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างเท่ากับ 3,787 ล้านบาท และตั๋วแลกเงินรวมกับเงินกู้ระยะสั้นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกันรวม 400 ล้านบาท บริษัทไม่มีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านสภาพคล่องแล้ว แหล่งเงินทุนที่จำกัดยังส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ด้วย โอกาสที่ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของบริษัทแคบลงด้วยเช่นกันในระยะปานกลาง

ความเสี่ยงด้านเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่บริษัทเริ่มประกอบธุรกิจให้สินเชื่อประเภทดังกล่าวนี้ มีลูกหนี้ 2 รายที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยลูกหนี้ทั้ง 2 รายนี้ได้โอนหลักทรัพย์ค้ำประกันให้แก่บริษัทมูลค่ารวมกัน 326 ล้านบาทเพื่อชำระหนี้คงค้าง 305 ล้านบาท หรือประมาณ 7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งบริษัทได้ตัดบัญชีลูกหนี้ดังกล่าวและบันทึกเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ภายใต้มาตรฐานบัญชีปัจจุบัน บริษัทไม่ได้ถูกกำหนดให้ต้องจัดชั้นเงินให้สินเชื่อหรือตั้งค่าเผื่อหนี้สูญ บริษัทจึงไม่ได้รายงานเงินให้สินเชื่อที่ค้างชำระ

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าหากบริษัทต้องรายงานเงินให้สินเชื่อค้างชำระ ในที่สุดแล้วบริษัทอาจจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญในลักษณะเดียวกันกับผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์รายอื่น ๆ ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจมาก่อน จากประวัติการดำเนินงานที่สั้นและการเติบโตอย่างรวดเร็วของพอร์ตสินเชื่อของบริษัท บริษัทยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการบริหารการเติบโตของสินเชื่อและดำรงคุณภาพสินเชื่อไว้ในระดับที่ยอมรับได้อย่างสม่ำเสมอ

การเติบโตของสินเชื่อไม่สม่ำเสมอ บริษัทมีสินเชื่อที่เติบโตสูงในปี 2559 แต่การเติบโตดังกล่าวเป็นเพียงแค่ในระยะสั้น พอร์ตสินเชื่อของบริษัทเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4,117 ล้านบาทในปี 2559 จาก 1,039 ล้านบาทในปี 2558 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเท่ากับ 296.2% อย่างไรก็ตาม สินเชื่อของบริษัทหดตัวลง 6.9% สู่ระดับ 3,831 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 และทรงตัวที่อยู่ที่ 3,816 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 การเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของบริษัทรวมกับการที่บริษัทมีเงินทุนจำกัดด้วย นอกจากนี้ บริษัทอาจต้องเผชิญระดับการแข่งขันที่สูงเนื่องจากลูกค้าเป้าหมายของบริษัทจัดเป็นกลุ่มที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงต่ำ การแข่งขันอาจจำกัดความสามารถในการปล่อยสินเชื่อใหม่และอาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคา ด้วยเหตุนี้ ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าโอกาสเติบโตมีความไม่แน่นอน บริษัทจะต้องใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ความสำเร็จและความยั่งยืนของการเติบโตของธุรกิจ

ธุรกิจของบริษัทลูกช่วยหนุนให้กลับมามีกำไร ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปี 2559 และปี 2560 โดยจากที่เคยขาดทุน 25 ล้านบาทในปี 2558 บริษัทกลับมามีกำไร 174 ล้านบาทในปี 2559 และ 255 ล้านบาทในปี 2560 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก -2.7% ในปี 2558 เป็น 6.1% ในปี 2559 แต่ลดลงเล็กน้อยเป็น 5.5% ในปี 2560 บริษัทมีกำไรสุทธิ 44 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเท่ากับ 3.4% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว)

ผลประกอบการทางการเงินที่ดีขึ้นต่อเนื่องของบริษัทลูกของบริษัท ซึ่งก็คือ บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ จำกัด (GSC) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนให้บริษัทกลับมามีกำไร โดยบริษัทโกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ ทำธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ (Call Center) และให้บริการจัดเก็บหนี้แก่บริษัทต่าง ๆ ธุรกิจของบริษัทโกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ ขยายอย่างต่อเนื่อง มีฐานลูกค้าที่ใหญ่ และทำกำไรในปี 2559 ปัจจุบันบริษัทโกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ ทำรายได้ให้แก่บริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของรายได้รวมของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทโกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์จะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่องในอนาคต

การก่อหนี้สูง ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทมีการก่อหนี้ในระดับที่สูงหากพิจารณาจากประวัติการดำเนินงานที่ยังสั้นอยู่ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 3.3 เท่า บริษัทยังคงปฏิบัติตามข้อกำหนดซึ่งต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเอาไว้ไม่เกิน 6 เท่า ถึงแม้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ได้ในระยะเวลา 12 ถึง 18 เดือนก็ตาม แต่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินกู้ยืมเพื่อนำไปขยายธุรกิจอาจนำไปสู่ระดับการก่อหนี้ที่สูงขึ้น อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงขึ้นหมายถึงบริษัทมีฐานทุนน้อยสำหรับรองรับความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด

อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงจาก 59.0% ณ สิ้นปี 2558 เป็น 21.2% ณ สิ้นปี 2559 และ 25.9% ณ สิ้นปี 2560 ขณะที่ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อัตราส่วนดังกล่าวเท่ากับ 23.0% บริษัทจำเป็นต้องดำรงฐานทุนที่แข็งแกร่งเพื่อบรรเทาผลกระทบจากหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2559 และ 2560 บริษัทได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษํทให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท โดยวันใช้สิทธิวันสุดท้ายสำหรับใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ดังกล่าว คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 สำหรับใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ชุดที่ 1 (ACAP-W1) และวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 สำหรับใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ชุดที่ 2 (ACAP-W2) หากใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ทั้ง 2 ชุดถูกใช้สิทธิทั้งจำนวน ทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิฯ จะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะมีผลประกอบการทางการเงินที่ค่อย ๆ ดีขึ้น แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนว่าคุณสมบัติการจัดหาเงินทุนและการก่อหนี้ของบริษัทจะไม่เสื่อมถอยลง ขณะที่บริษัทยังสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์และฐานทุนไว้ในระดับที่ยอมรับได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตยังมีจำกัดในระยะปานกลางจากประวัติการดำเนินงานอันสั้นของบริษัท โดยบริษัทยังต้องใช้เวลาในการรักษาสถานะทางธุรกิจให้มั่นคงและปรับปรุงสถานะทางการเงินให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนความสามารถในการทำกำไรและฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากการก่อหนี้และสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างชัดเจนหรือคุณภาพสินทรัพย์เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ