นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน เม.ย.61 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย.61) ลดลง 16.02% จากเดือนก่อนที่เป็น 143.09 นับเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังคงอยู่ในภาวะร้อนแรง (Bullish) เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยผลสำรวจระบุว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าการลงทุนจะได้รับผลดีจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ กับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ นักลงทุนติดตามปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เมื่อเดือนมี.ค. และเห็นว่าเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด นอกจากนี้ยังเริ่มติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งในอนาคตอีกด้วย
โดยดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงจากการสำรวจเดือนก่อน แต่ยังอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish) , ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มสถาบันภายในประเทศกับกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลต่างปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) ,ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ยังคงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดียวกับเดือนก่อน โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธุรกิจเหล็ก (STEEL)
สำหรับปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือน มี.ค.เคลื่อนไหวในลักษณะปรับฐานราคาเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยมีการแกว่งตัวค่อนข้างกว้างในช่วง 1,761-1,825 จุด แต่ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวใกล้เคียง 1,800 จุด โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่การปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และความกังวลในนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ว่าละลุกลามจนเป็นสงครามทางการค้าหรือไม่
"ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นใน SET Index จากความคาดหวังในเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน แต่จะต้องติดตามความชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้หรือไม่ หลังจากขึ้นไปแล้ว 0.25% ในเดือนมีนาคม ซึ่ง 2 ประเด็นนี้เป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อการลงทุนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่เริ่มมีการบังคับใช้ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ขนาดไหน ซึ่งต้องพิจารณาผลกระทบเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง"นางวรวรรณ กล่าว
นางวรวรรณ กล่าวว่า การตอบโต้ระหว่างสหรัฐและจีนในการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้า แม้ปัจจุบันยังไม่เป็นสงครามการค้าชัดเจน แต่สิ่งที่ต้องจับตามองและระมัดวังคือจะมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ มากน้อยเพียงใด รวมถึงผลการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งสงครามทางการค้าอาจเข้ามากระทบวงจรการผลิตของบริษัทจดทะเบียนที่มีฐานการผลิตในจีน แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก
สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของสหภาพยุโรป ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ แต่มีแนวโน้มจะทยอยลดลงในช่วงปลายปี, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 60 ของญี่ปุ่น ขยายตัวได้ 1.7% จาก 0.9% ในปีก่อน และจีนกำหนดเป้าหมายอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 61 เป็น 6.5% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ
นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุน พบว่านักทุนระยะสั้นโดยเฉพาะนักลงทุนเก็งกำไรมีโอกาสไม่มากนักที่จะเข้าไปลงทุนแล้วได้กำไรสูง เนื่องจากมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่าดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นไปสูงสุดอย่างมากเพียง 5% จึงมีโอกาสที่จะได้กำไรเพียง 2-5% เท่านั้น แต่การลงทุนในตลาดหุ้นยังได้ผลตอบแทนเหมาะสมเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งผู้ลงทุนจำเป็นต้องพิจารณาจังหวะการเข้าลงทุนด้วยตนเองด้วย
ส่วนนักลงทุนระยะยาวหรือผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวม มองว่าไม่จำเป็นต้องคำนึงตัวเลขดัชนี แต่ให้พิจารณาถึงผลตอบแทนเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มที่ยังสามารถเติบโตได้ตามภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำนักลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้บริหารจัดการเงิน โดยการเก็บออมเงินสดไว้สำหรับลงทุนสำรองไว้ด้วย เพื่อรองรับเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นไทยในอนาคต จะทำให้นักลงทุนสามารถมีกำลังซื้อสินทรัพย์ในราคาถูกได้
https://www.youtube.com/watch?v=1ZypqBzxdBU