นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 61 เติบโตราว 20-25% จากปีก่อน หลังจะมีโครงการผลิตไฟฟ้าใหม่ ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเข้ามา 31.2 เมกะวัตต์ (MW) จากสิ้นปีก่อน ซึ่งจะมาจากโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น 2 แห่ง คือ โครงการโรงไฟฟ้า Hidaka กำลังการผลิตติดตั้ง 18.2 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาสที่ 1/61 ,โครงการ Zouen กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และโครงการในไทยคือโครงการโซลาร์สำหรับหน่วยงานราชการ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกกะวัตต์ มีกำหนด COD ในไตรมาสที่ 4/61 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งในปี 61 รวม 103 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากำลังการผลิต 83.2 เมกกะวัตต์
ขณะที่บริษัทตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 63 ซึ่งจะทยอยเข้ามา ทำให้คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องทุกปีนับจากนี้ เบื้องต้นจะมาจากโครงการ Kunshigh Kundi ในมองโกเลียกำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ มีกำหนดการ COD ไตรมาสที่ 1/62 ส่วนในญี่ปุ่นโครงการ Yamaga กำลังการผลิต 31.1 เมกะวัตต์ และโครงการ Yamaga2 กำลังการผลิต 12.5 เมกกะวัตต์ และโครงการ Leo กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ คาดว่าทั้ง 3 โครงการนี้จะสามารถ COD ได้ในไตรมาสที่ 2/63
ทั้งนี้ หากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่ม COD ทุกโครงการแล้วจะทำให้บริษัทมีสัดส่วนรายได้ในประเทศ 50% และจากต่างประเทศอีก 50% จากปัจจุบันบริษัทรับรู้รายได้หลักจากโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม จ.ลพบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 52 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต 40 เมกะวัตต์
ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป โดยตั้งเป้าปี 61 มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันเข้าไปลงทุนติดตั้งระบบเพื่อขายไฟฟ้าขนาด 1.4 เมกะวัตต์ โดยมองว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
นอกจากนี้ยังศึกษาการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติมและไม่เพียงแต่โซลาร์ฟาร์ม แต่ศึกษาไปถึงพลังงานประเภทอื่น ๆ ด้วย อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งบริษัทมีความพร้อมสูงสำหรับการลงทุน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการขอวงเงินกู้เพิ่มเติม 2 พันล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ยังมีฐานทุนเพียงพอสำหรับเข้าลงทุนอีกราว 4-5 พันล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทแม่อยู่เพียง 0.56 เท่า โดยอัตราผลตอบแทน (IRR) จะต้องไม่ต่ำกว่า 2 digit ด้วย
นายวรุตม์ กล่าวต่อว่า มองราคาหุ้น SSP อยู่ใกล้เคียงกับราคาที่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เนื่องจากมีการสื่อสารที่เข้าใจผิดเป็นประเด็นสำคัญ ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทยังไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งบริษัทมองว่ากำไรสุทธิที่ได้รับผลกระทบขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงผลกระทบทางบัญชีเท่านั้น แต่บริษัทให้ความสำคัญกับ ‘Core Profit’ ในการทำกำไร ซึ่งจะมีการประกาศอีกครั้งหลังจากมีการนำเข้าพิจารณาจากคณะกรรมการชัดเจนแล้ว
https://www.youtube.com/watch?v=2SSuigHjaxE