NFC ยันกลับเข้าเทรด ผถห.ใหญ่ไม่ทิ้งหุ้นมั่นใจศักยภาพธุรกิจโตแกร่ง-ไม่หวั่นหากรายย่อยขาย พร้อมซื้อคืนถ้าราคาเหมาะสม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 11, 2018 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอ็นเอฟซี (NFC) เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมจะนำหุ้นกลับเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ในวันที่ 15 มิ.ย.61 หลังจากถูกพักการซื้อขายมายาวนานกว่า 15 ปี และได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จสมบูรณ์

พร้อมทั้ง ยืนยันว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จะไม่มีการขายหุ้นออก เนื่องจากมั่นใจในศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ และการให้บริการคลังสินค้า โลจิสติกส์ คลังเก็บสินค้าเหลว และบริการท่าเทียบเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตพุด

ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แบ่งเป็น อันดับ 1 นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี จำนวนหุ้น 607,414,962 หุ้น คิดเป็น 55.84%, อันดับที่ 2 บริษัท อินเตอร์ สเปค โกลบอล จำกัด จนวนหุ้น 176,000,000 หุ้น คิดเป็น 16.18% และอันดับที่ 3 Bentayga Holdings Ltd. จำนวนหุ้น 86,000,000 หุ้น คิดเป็น 7.91%

นอกจากนั้น บริษัทยังยืนยันไม่ได้กังวลหากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ถือหุ้นไว้ตั้งแต่ก่อนห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นระยะเวลายาวนานจะมีการขายหุ้นออกไปบ้าง โดยขณะนี้ NFC มีผู้ถือหุ้นรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 10% หรือมีจำนวนทั้งสิ้น 4,500 ราย ซึ่งหากมีการขายหุ้นออกมาก็จะเข้าไปซื้อคืนหากมีราคาที่เหมาะสม

"การกลับเข้ามาเทรดเราไม่ได้มีความกังวลอะไร เพียงแต่เราอยากจะเห็นว่านักลงทุนจะให้ Value เราขนาดไหน ขณะเดียวกันตัวผมเองก็ยืนยันว่าจะไม่มีการขายหุ้นออกแน่นอน เนื่องจากผมลงทุนกับ NFC ไปไม่ต่ำกว่า 5-6 พันล้านบาท คงไม่ขายหุ้นออกง่ายๆ รวมถึงผู้ถือหุ้นอีก 2 ราย ที่เป็นพาร์ทเนอร์กันก็คงไม่ขายเช่นกัน เนื่องจากเราต่างมีความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ"นายณัฐภพ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโต 4-7% ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยยังคงสัดส่วนรายได้หลักมาจากธุรกิจจำหน่ายเคมีภัณฑ์ 90% และอีก 10% จะเป็นธุรกิจบริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าในปี 65 คาดหวังธุรกิจบริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์จะขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90% ได้ และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจจำหน่ายเคมีภัณฑ์น่าจะอยู่ที่ 10% เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งของคลังสินค้าของบริษัทมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่สำคัญ, เหมาะสมและเอื้อต่อการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ครบวงจรทั้งการขนส่งทางถนน ทางรถไฟ และทางท่อ, ที่ตั้งคลังสินค้ามีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ และธุรกิจของบริษัทฯ ถือว่ามีโอกาสขยายตัวอีกมาก จากโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของภาครัฐ

บริษัทยังมีการลงทุนโครงการปรับปรุงคลังสินค้าที่มีอยู่ปัจจุบันให้มีมาตฐาน เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าและขยายฐานลูกค้าในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตพุด คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 62 มูลค่าการลงทุน 400 ล้านบาท และเตรียมลงทุนพัฒนาคลังสินค้าเหลวเพิ่มเติม บนพื้นที่ 500 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งด้านเทคนิค และการค้า รวมถึงการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาคลังสินค้าเหลวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่าจะสรุปผลและเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาส 4/61

บริษัทมองอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ทั้ง 2 โครงการ ไม่ต่ำกว่า 2 หลัก โดยการลงทุนดังกล่าวบริษัทจะใช้ทั้งเงินสดและการกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน โดยปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมีอประมาณ 300-400 ล้านบาท และมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ระดับ 0.21 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ