นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 62 จะเพิ่มขึ้นเป็น 13,500-14,000 ล้านบาท หลังจากคาดว่าจะทยอยเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ครบ 440 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ในปี 62 สามารถรับรู้รายได้จากกำลังการผลิตทั้งหมดได้เข้ามาเต็มปี ขณะที่เดียวกันยังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมลงทุน หรือเข้าซื้อกิจการพลังงานทดแทนต่าง ๆ คาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนภายในปีนี้
สำหรับในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายรายได้ที่ระดับ 9,500-10,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ารายได้จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก จากปริมาณการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ TG6 และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง TG4 ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วทั้งสิ้น 5 โรง กำลังการผลิตรวมเป็น 220 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าอีก 2 โรงที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการขอใบอนุญาต ได้แก่ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ-ถ่านหิน 70 เมกะวัตต์ (TG7) ที่คาดว่าจะเริ่ม COD ในเดือน มิ.ย. และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ (TG8) ที่คาดว่าจะ COD ในช่วงไตรมาส 3/61 ซึ่งทั้ง 2 โรงจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ในอัตราเดียวกับที่ TPIPL ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และจะส่งผลให้บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ COD ครบทุกแห่ง หนุนกำลังการผลิตรวมเป็น 440 เมกะวัตต์
นายภัคพล กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังได้เจรจาเข้าซื้อและร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศหลายโครงการ กำลังการผลิต ตั้งแต่ 5-100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนของการลงทุนต้องแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังสนใจเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนต่าง ๆ ที่เจ้าของโครงการเปิดให้เอกชนเข้าร่วม โดยบริษัทพร้อมจะเข้าไปซื้อซองประมูลในทุก ๆโครงการเพื่อศึกษาความเหมาะสมของผลตอบแทนการลงทุนและความเสี่ยง หากโครงการใดมีความเหมาะสมก็พร้อมที่จะเข้าลงทุนต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีความพร้อมที่จะเข้าลงทุนได้ เนื่องจากสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินเพิ่มเติม โดยปัจจุบันบริษัทนับว่าไม่มีภาระหนี้เลย ขณะที่วางนโยบายที่จะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 1 เท่า
สำหรับการที่รัฐบาลได้ทบทวนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานทดแทนจากภาคเอกชนนั้น เบื้องต้นเห็นว่าในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานได้หารือกัน โดยที่ยังคงดำเนินการต่อไปตามโรดแมพ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้เช่นเดิม โดยจะให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดหาเอกชนเข้ามาดำเนินการในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) โดยมีผลตอบแทนเป็นค่ากำจัดขยะ (Tipping Fee) และ ค่าไฟฟ้า ต่อไป โดยกระทรวงพลังงานจะยังคงรับซื้อไฟฟ้าด้วยราคาเป็นไปตามประกาศเดิม กรณีที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) จะรับซื้อไฟฟ้าที่อัตราประมาณ 5.78 บาท/หน่วย และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) จะรับซื้อไฟฟ้าที่อัตราประมาณ 3.66 บาท/หน่วย
ส่วนโครงการที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการโรงกำจัดขยะและผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 2 แห่งที่อ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งแต่ละแห่งจะรองรับปริมาณขยะได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน และผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 20 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขยะใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้าดำเนินโครงการดังกล่าวในไตรมาส 4/61
นายภัคพล กล่าวว่า บริษัทสนใจที่จะเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มเติม เนื่องจากมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะมานาน ซึ่งการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงจากขยะ จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีที่ผ่านมา กทม.มีปริมาณขยะเกิดขึ้นเฉลี่ย 10,000 ตันต่อวัน ขณะที่ขยะมูลฝอยทั่วประเทศในปีที่ผ่านมามีปริมาณสะสมประมาณกว่า 27 ล้านตัน ซึ่งส่งผลกระทบ และสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย