สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษกรรมการและอดีตกรรมการ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) รวม 11 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณียินยอมให้ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 26,000 ล้านบาท เพื่อลวงไม่ให้ผู้ลงทุนและเจ้าหนี้รู้รายละเอียดที่แท้จริงของหนี้สิน
โดยผู้ถูกกล่าวโทษ ประกอบด้วย (1) นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ (2) นายขจรพงศ์ คำดี (3) นายธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ (4) นายพิรุฬห์ พิหเคนทร์ (5) นายพิพรรธ พิหเคนทร์ (6) นายพิบูล พิหเคนทร์ (7) นางสาวกาญจนา จักรวิจิตโสภณ (8) นายสมเกียรติ ศุขเทวา (9) นายสุริยาภรณ์ บุญชัย (10) นายเอกนฤน ธรรมมารักษ์ และ (11) นายธงชัย วัฒนโสภณวงศ์
สืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนหลายรายร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้สินจำนวน 26,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่ EARTH ส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1 ปี 2560 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้สินนี้เป็นเหตุให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 10,349 ล้านบาท เป็นติดลบ 15,651 ล้านบาท และคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้ EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ก.ล.ต. จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความมีอยู่และสถานะของหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจำนวน 26,000 ล้านบาท
จากการตรวจสอบ ก.ล.ต. พบว่า รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท และข้อมูลที่ EARTH เปิดเผยผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายครั้ง EARTH ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นค่าเสียหายพิเศษหรือค่าเสียโอกาส ซึ่งจากรายงานการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ที่ ก.ล.ต. สั่งให้ EARTH จัดทำ ระบุว่า มูลหนี้ดังกล่าวไม่สามารถบันทึกเป็นหนี้สินในงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี และได้ระบุความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายรายหนึ่งว่า หนี้สินส่วนที่เป็นค่าเสียหายพิเศษตามข้อตกลงในสัญญากำหนดว่าคู่สัญญาคือ EARTH ไม่ต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ EARTH ไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของมูลหนี้ดังกล่าวก่อนที่จะนำมูลหนี้ทั้งจำนวนไปรวมเป็นหนี้สิน และยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
การกระทำข้างต้นของกรรมการและอดีตกรรมการของ EARTH ทั้ง 11 ราย ที่ร่วมกันดำเนินการ มีส่วนรู้เห็น ยินยอม หรือสนับสนุนให้ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในรายละเอียดของหนี้สินดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการลวงให้ผู้ลงทุนและเจ้าหนี้เข้าใจผิดว่า EARTH มีภาวะหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน เป็นความผิดตามมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยการกระทำผิดอาจต้องระวางโทษอาญาโดยจำคุกตั้งแต่ห้าถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมของทรัพย์สินและการบันทึกบัญชี ซึ่งหากพบว่าเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้กรรมการและอดีตกรรมการข้างต้นเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ