นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่บีทีเอสสนใจเข้าลงทุนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตร โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.ก่อนที่จะยื่นซองประมูลในวันที่ 12 พ.ย.61
ในเบื้องต้นกลุ่ม BSR ที่ประกอบด้วย BTS, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) นั้นจะปรับสัดส่วนถือหุ้นของ STEC และ RATCH เพิ่มเติมจากที่ถืออยู่ 15% และ 10% ตามลำดับ ส่วน บมจ.ปตท (PTT) บริษัทได้เจรจาชักชวนเข้ามาร่วมทุนนั้นได้มีการหารือกันเบื้องต้นแล้ว แต่ ปตท.ต้องการรอดูรายละเอียดของโครงการก่อน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเปิดขายซองประมูลโครงการดังกล่าวในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ จากนั้นคาดว่า ปตท.จะหารือกับ BTS ต่อไป
ขณะเดียวกัน BTS ก็ได้เจรจากับพันธมิตรต่างชาติ 2-3 รายที่เป็นผู้ผลิตและวางระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย
"ปตท.เขารอซื้อเอกสารวันที่ 18.มิ.ย.ก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน และเราก็ยังคุยกับต่างชาติ อีก 2-3 รายก็คุยกันแล้ว คิดว่า ส.ค.- ก.ย.น่าจะสรุปได้เรื่องพันธมิตร"นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า โครงการนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าลงทุน เพราะสัญญาสัมปทานให้ระยะเวลานาน 50 ปี และที่สำคัญในช่วง 10 ปีแรกรัฐจะเข้าร่วมลงทุนโดยทยอยลงทุน และยังมีสิทธิในการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันราว 100 ไร่ที่มีโอกาสทางธุรกิจในการลงทุนพัฒนาในรูปแบบโครงการ Mixed Used ดังนั้น คาดว่าโครงการนี้จะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR)ไม่ต่ำกว่า 10%
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อที่ รฟท.จะเปิดประมูลนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจและติตตามอยู่ ส่วนจะเข้าไปร่วมประมูลหรือไม่ต้องขอรอดูรายละเอียดเงื่อนไขการประมูล (TOR) เสียก่อน หากสนใจจะเข้าร่วมประมูลจะให้บริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้เข้าประมูล
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะส่งมอบพื้นที่เพื่อเข้าดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง หลังจากเลื่อนส่งมอบในเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากรับมอบพื้นที่ จะเริ่มงานก่อสร้างที่ใช้เวลา 39 เดือน แต่คาดว่าจะเร่งให้สร้างเสร็จเร็วกว่ากำหนดดังกล่าว
ส่วนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (เขียวใต้) เบื้องต้นกำหนดเปิดเดินรถวันที่ 5 ธ.ค.61 บริษัทได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ด้วยการสั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้า 46 ขบวน เพื่อรองรับกับการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ และสายสีเขียวเหนือ (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยสั่งซื้อกับซีเมนส์ 22 ขบวน และอีก 24 ขบวนสั่งซื้อจาก CRCC ของจีน โดยซีเมนส์จะส่งมอบรถไฟฟ้า 2 ขบวนแรกในเดือน ก.ค.นี้เพื่อนำมาทดลองวิ่งก่อน 2 เดือน จากนั้นจะทยอยส่งมอบจนครบ 22 ขบวนในต้นปีหน้า และอีก 24 ขบวน CRCC จะทยอยส่งมอบในปีหน้า
ทั้งนี้ BTS คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เริ่มให้บริการแล้ว จะทำให้จำนวนผู้โดยสารของบีทีเอสจะเพิ่มเป็น 1.5 -2.0 ล้านเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 800,000 เที่ยวคน/วัน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ BTS ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณทั้งระบบที่รองรับรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในอนาคตที่บริษัทรับบริหารการเดินรถ ได้แก่ สายสีเขียว สายสีชมพู สายสีเหลือง จึงอาจทำให้การเดินรถไฟฟ้าเส้นทางปัจจุบันช่วงนี้มีปัญหาขัดข้อง หรือกระตุกบางครั้ง ล่าสุดเมื่อช้านี้รถไฟฟ้าสายสุขุมวิทก็เกิดการขัดข้องเล็กน้อย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการปรับปรุงระบบวิทยุสื่อสาร และปรับปรุงระบบตั๋วเปลี่ยนจากบัตรที่ใช้แถบแม่เหล็กมาเป็นบัตรที่ใช้ชิพการ์ด ซึ่งรองรับเส้นทางในอนาคต รวมทั้งเพิ่มตู้ขายตั๋วโดยสารอัตโนมัติที่สามารถใช้กับธนบัตรได้ โดยใช้เงินลงทุนหลายร้อยล้านบาท
"มาตรฐานการตรงต่อเวลากำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 99.5% แต่เมื่อพ.ค.ที่ผ่าน เราทำได้ 99.8% นั่นหมายความว่ารถขบวนที่เสียและกระทบต่อผู้โดยสารมีน้อยมาก"นายสุรพงษ์ กล่าว