นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าปีนี้ผลประกอบการจะมีกำไรอย่างแน่นอน แม้ว่าช่วงไตรมาส 1/61 จะมีผลขาดทุนสุทธิ 109.11 ล้านบาท ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลกำไรในงบการเงินรายงวด ตั้งแต่งวด 9 เดือน โดยปีนี้จะมีโรงไฟฟ้าที่ทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) รวม 188 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 110 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์ม 60 เมกะวัตต์ ที่ COD ไปแล้วเมื่อไตรมาสที่ 1/61 และโครงการโรงไฟฟ้ามิตรภาพวินฟาร์ม 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ได้ในวันที่ 20 มิ.ย. ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 78 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ปลายปีนี้
"ในช่วงไตรมาส 2/61 อาจจะยังไม่ช่วงที่ดีนักสำหรับเรา เพราะโครงการพลังงานลมจะมีรายได้จำนวนมากในช่วงครึ่งปีหลังที่มีลมดี โดยปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากพลังงานลม 1.1-1.2 พันล้านบาท โดยจะรับรู้ในครึ่งปีหลังราว 60-65% นอกจากนี้จะมีรายได้เข้ามาบางส่วนจากโครงการใหม่ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ที่จะสามารถ COD ได้ในช่วงไตรมาส 4/61 ซึ่งก็จะทำให้จะโรงไฟฟ้าที่ COD ทั้งหมด 370 เมกะวัตต์ ทำให้เรามั่นใจว่าทั้งปีจะมีกำไรแน่นอน"นายสมบูรณ์ กล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการมองหาใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ครบ 1,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 1,000 วัน จากปัจจุบันที่มี PPA ในมือแล้ว 510 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมองหาทุกโอกาส ทั้งการเข้าซื้อโครงการที่ COD แล้ว โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการที่เริ่มพัฒนาใหม่ตั้งแต่ต้น โดยบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการในประเทศมาเลเซีย ,เวียดนาม ,เมียนมา และกัมพูชา
นอกจากนี้บริษัทยังได้รุกตลาดไปยังสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนด้วยกัน (Private PPA) โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะมีกำลังการผลิตราว 100 เมกะวัตต์/ปี โดยในปีนี้ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นวางเป้าหมายที่ระดับ 60-70 เมกะวัตต์ หลังปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม 1 ราย เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ในเดือน ก.ค.
พร้อมกันนี้บริษัทเตรียมที่จะเปิดตัวแอพพลิเคชั่น "GROOF" ในวันที่ 29 มิ.ย. นี้ เพื่อให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อประดับครัวเรือน พร้อมให้บริการสินเชื่อด้วย โดยปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจเข้ามาเจรจาและพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทมีพันธมิตรผู้รับเหมากระจายอยู่ทั่วประเทศ 40-50 ราย เพื่อให้บริการได้ทันท่วงที โดยบริษัทคาดจะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 30-40 เมกะวัตต์/ปี
ปัจจุบันธุรกิจของ GUNKUL มีทั้งผลิต จัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าซึ่งครอบคลุมในทุกขั้นตอนของระบบการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าไปจนถึงผู้ใช้ไฟฟ้าแบบครบวงจร การก่อสร้าง ติดตั้งระบบ การผลิตไฟฟ้า และการให้บริการดูแลรักษาโรงไฟฟ้า การดำเนินงานด้านโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงามลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนดิน (Solar Farm) ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) เพื่อใช้ภายในธุรกิจตนเอง (Self-Consumption)
นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของงานรับเหมาก่อสร้าง ปัจจุบันบริษัทมีอยู่ทั้งหมดราว 700 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้เข้ามาทั้งหมดในปีนี้ โดยเป็นงานรับเหมาก่อสร้างโครงการพลังงานลม และโครงการโซลาร์รูฟท็อป
นอกจากนี้บริษัทเตรียมที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเข้าซื้อหุ้นสามัญ ของบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด (FEC) ที่จะช่วยให้บริษัทมีโอกาสในการขยายงานด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระบบไฟฟ้า ทั้งแบบเหนือดิน เคเบิ้ลใต้ดิน และสถานีไฟฟ้า โดยปัจจุบัน FEC งานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) รวม 800 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ทั้งหมดในปีนี้ นอกจากนี้บริษัทเตรียมที่จะเข้าประมูลงานนำสายไฟฟ้าลงดิน มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะได้งานไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท