(เพิ่มเติม) FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลง แต่อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวได้ศก.ในประเทศหนุนแต่กังวลปัจจัยตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 12, 2018 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.61) ปรับตัวลดลง 1.07% มาอยู่ที่ 91.66 ถือว่าเป็นภาวะทรงตัว (Neutral) ที่มีค่าดัชนีระหว่าง 80-120 และนับว่าอยู่ในภาวะทรงตัวเป็นที่สอง จากระดับ 92.65 ในเดือนก่อน

ผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากตัวเลขไตรมาส 1/61 ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) -ยายตัว 4.8% และตัวเลขการลงทุนภาครัฐกลับมาเพิ่มขึ้น 4.4% ขณะที่นักลงทุนให้น้ำหนักปัจจัยสถานการณ์ทางการเมือง และความชัดเจนในการการกำหนดวันการเลือกตั้ง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการพิจารณานโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

สำหรับปัจจัยต่างประเทศจากนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ และนโยบายทางการเงินของธนาคารยุโรปที่กำลังพิจารณาการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงปลายปีนี้ ถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อการลงทุนมากที่สุด โดยมีประเด็นติดตามความชัดเจนของผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าและนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯต่อนโยบายทางการค้าและนโยบายทางการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ๆ นั้น ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ การปรับตัวผันผวนของราคาน้ำมันหลังจากมีการเคลื่อนไหว 70 ดอลลาร์/บาร์เรล และสถานการณ์ทางการเมืองของกลุ่มประเทศในยุโรป ที่อาจส่งผลต่อนโยบายทางการเงิน

"ผลสำรวจระบุว่านักลงทุนเชื่อมั่นว่าการลงทุนจะได้รับผลดีจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่นักลงทุนกังวลสถานการณ์การเมืองและความชัดเจนของการเลือกตั้ง และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กรณีการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯและจีนยังต้องติดตามต่อไปว่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าจะกระทบกับตลาดหุ้นไทยค่อนข้างน้อย เพราะนักลงทุนทั่วโลกให้น้ำหนักกับปัจจัยที่มีผลกับภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า โดยเฉพาะสงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ ที่ล่าสุดผลการประชุม G7 ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้

นอกจากนั้น นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะประชุมในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันกระแสเงินให้ไหลออก ส่วนการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

"ยังต้องดูสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯว่าจะจบลงอย่างไร แต่เราอาจได้ผลบวกอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเกิดสหรัฐฯนำเข้าจากจีนน้อยลง ก็อาจเปิดโอกาสให้ประเทศอื่น ๆ ส่งออกไปสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯเป็นสินค้าที่สหรัฐฯผลิตเองไม่ได้อยู่แล้ว เช่น สินค้าเกษตร แต่ผลกระทบของเราน่าจะเสียโอกาสในการส่งออกไปยังจีนได้น้อยลง"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าครึ่งหลังปีนี้ตลาดหุ้นไทยจะตอบรับสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และแรงขายของต่างชาติจะลดลง ทำให้ดัชนีฯ ปรับตัวขึ้นได้ และการเลือกตั้งที่ชัดเจนจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก

โดยดัชนีหุ้นไทย เดือนพ.ค.เคลื่อนไหวปรับฐานในทิศทางลดลงอยู่ในกรอบระหว่าง 1,724-1,791 จุด โดยดัชนีฯ ยังคงปรับฐานจากการคาดการณ์นโยบายทางการเงินของสหรัฐ ที่ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯที่ปรับขึ้นมาที่ 3% และแรงขายสุทธิต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นช่วงที่ผ่านมายังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตาม แม้ว่านักลงทุนผ่อนคลายความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่การเจรจามีความคืบหน้า โดยสหรัฐฯเลื่อนการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่อจีนในช่วงนี้

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบเดือนมิ.ย.61 อยู่ที่ระดับ 50 อยู่ในเกณฑ์"ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)" สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่ากนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมที่จะถึงนี้ โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ , อัตราเงินเฟ้อ , Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอุปสงค์ อุปทานในตลาดตราสารหนี้ไทย

ขณะเดียวกันดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง.รอบเดือนส.ค.61 อยู่ที่ระดับ 90 และ 92 ตามลำดับ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 5 ปี และ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่ระดับ 78 และ 87 ตามลำดับ โดยดัชนีทั้งสองอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 5 ปี และ 10 ปี โดยผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น และการคาดการณ์การขยายตัวที่ดีทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

ด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า จากการสำรวจรอบนี้ นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ร้อยละ 42.42 มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงเป็น Sideway หรือไม่เปลี่ยนแปลงมาก ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 30.30 มีมุมมองต่อตลาดฯ ในทิศทางบวก ทั้งนี้นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนยังคาดว่าดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นเดือนมิ.ย.61 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,749 จุด

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในระยะสั้นนั้น นักวิเคราะห์มองว่าปัจจัยการเมืองในประเทศซึ่งรวมถึงแนวโน้มการเลือกตั้ง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ (เฟด) และ Fund Flow ต่างชาติที่ไหลเข้าหรือออกจากตลาดทุนไทย เป็นสามลำดับแรกที่มีอิทธิพลในระยะสั้น ส่วนทิศทางดัชนีสิ้นปี 61 นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีฯ ระหว่างปีมีค่าเฉลี่ยที่ 1,686 จุด ซึ่งลดลงจากตัวเลขที่สำรวจในเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 1,703 จุด ส่วนค่าเฉลี่ยสูงสุดของปีมองที่ 1,877 จุด ขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 37.50 คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุดในกรอบเกิน 1,900 จุดขึ้นไป

โดยมีรายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 6 สำนักขึ้นไป ได้แก่ BBL, CPALL, IVL, LH และ PTT

https://www.youtube.com/watch?v=yrOBVmuRU4o&feature=youtu.be


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ