นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายการก้าวเป็นแบรนด์ระดับโลก (Global Brand) หลังจากได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ระดมทุนในใช้ในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างความหลากหลาย จากเดิมที่มีรายได้หลักจากการเป็นผู้พัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมให้กับเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ (ODM)เท่านั้น
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง โดยจะแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตให้กับลูกค้า เริ่มจากผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร"ไดเอโตะ"ที่ได้ทดลองทำตลาดไปแล้ว โดยเฉพาะช่องทางการขายออนไลน์ พร้อมกันนั้นยังมองโอกาสการพัฒนาสินค้าอาหารเสริมที่จะเจาะกลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้สูงอายุเพื่อให้สอดคล้องกับยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เป็นต้น และยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกหลายรายการที่เหมาะสมกับยุคปัจจุบันที่คนหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น เวย์โปรตีน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างอัตรากำไรในระดับสูงได้
นอกจากนั้น ตามแผนงานสร้างโรงสกัดสารวัตถุดิบแห่งที่ 2 ซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สกัดด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ นอกจากจะช่วยให้บริษัทลดต้นทุนการสั่งซื้อวัตถุดิบสารสกัดธรรมชาติที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ยังสามารถสกัดสารต่าง ๆ ที่มีคุณภาพดีขายให้กับผู้ผลิตรายอื่น และส่งออกไปขายในต่างประเทศในกรณีที่เป็นพืชสมุนไพรไทย หรือดอกไม้ของไทยที่ไม่ได้มีการสกัดในประเทศอื่นด้วย
เช่นเดียวกับห้องปฏิบัติการวิจัย (แล็บ) ระดับสากลโดยมีการขอรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะของสารสกัดและผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจะจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้งานภายในบริษัท จากปัจจุบันที่บริษัทส่งงานไปให้ห้องแล็บภายนอกทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมองโอกาสที่จะรับงานจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบด้วย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้เสริมให้กับบริษัท
"เราจะเป็น global brand อย่างสินค้าที่เราจะผลิตเป็นแบรนด์ของเราเองก็จะระวังไม่ให้ซ้ำกับลูกค้า ยังมีสินค้าอีกมากที่เราผลิตได้ อย่างเช่นเรามีใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์นมซึ่งได้มายากมาก ก็ทำให้เราสามารถผลิตเวย์โปรตีนได้ หรืออย่างบ้านเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราก็อาจทำอาหารเสริมเพื่อดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัย เป็นต้น เรามองทั้งการขายในประเทศและส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย"นางสาวศุภมาส กล่าว
DOD เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 110 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุน ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 150 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้น 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 205 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้น 410 ล้านหุ้น โดยคาดว่าจะนำหุ้นเข้าทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เงิน เพื่อใช้ลงทุนในโรงสกัดวัตถุดิบและห้องปฏิบัติการวิจัยระดับสากล จำนวน 100 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินในปี 61-62, ใช้ในการพัฒนาตราสินค้าใหม่ของบริษัท จำนวน 200 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินในปี 61-63, ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จำนวน 50 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินในปีนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 637.24 ล้านบาทในช่วงปี 61-63
นางสาวศุภมาส กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางผลประกอบการของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้นมากจากปีก่อน เนื่องจากบริษัทได้ย้ายมาใช้โรงงานใหม่ที่มีเนื้อที่ถึง 17 ไร่ จากโรงงานเดิมที่มีเนื้อที่เพียงประมาณ 1 ไร่เศษ ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับงานผลิตสินค้าทำได้มากขึ้น โดยเฉพาะการรับงานจากลูกค้ารายใหญ่ที่เคยมีขัอจำกัดในด้านประมาณการผลิต ซึ่งส่งผลให้ไตรมาส 1/61 กำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีแนวโน้มที่ดีในช่วงต่อ ๆ ไป
"เราเคยอยู่ในคลองจับปลาเล็กปลาน้อย แต่ตอนนี้เราอยู่ในมหาสมุทรแล้วมีปลาตัวใหญ่มากมายให้จับ โรงงานเก่าเรามีข้อจำกัดในการรับออร์เดอร์จากลูกค้า ทำให้เขาจำนวนเยอะ ๆ ไม่ได้ บางรายก็ต้องปฏิเสธไป แต่ตอนนี้เรากลับไปเสนองานให้คนที่เราเคยบอกปัดไปได้แล้ว โรงงานใหม่เราใช้กำลังการผลิต 60% เพราะกะกลางวัน อีก 40% เราสามารถเพิ่มกะกลางคืนได้อีก" นางสาวศุภมาส กล่าว
นอกจากนั้น จากสถานการณ์ในตลาดอาหารเสริมที่ภาครัฐเข้ามาดูแลเข้มงวดขึ้นกับสินค้าที่ไม่มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และการโฆษณาเกินจริง กลับเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับบริษัทที่มีการขอใบอนุญาต อย.ให้กับสินค้าทุกตัวที่ทำการผลิต ทำให้ผู้ที่เคยผลิตสินค้ากับโรงงานอื่นที่ไม่มั่นใจในมาตรฐานเข้ามาว่าจ้างให้บริษัทเป็นผู้ผลิตแทน