นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในวันนี้เวลา 11.00 น.จะมีการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องการเยียวยาที่ยังเป็นปัญหาอยู่ หลังจากไม่มีรายใดเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ซ์ (MHz) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 61 ว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร ทั้งที่ กสทช.เปิดประมูลก่อนที่จะสิ้นสุดสัมปทานกับเอกชนรายเดิมในวันที่ 15 ก.ย.61
"กสทช.เปิดประมูลคลื่นแล้วถ้าเกิดไม่มีใครเข้าร่วมประมูลความหมายคือจะเข้าสู่มาตรการเยียวยาได้หรือเปล่า เราเปิดประมูลแล้วแต่ไม่มีคนเข้าประมูล และเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงก็ต้องถือว่าสิ้นสุดลง หรือจะให้เข้าสู่มาตรการเยียวยา ในเมื่อเราเปิดให้ประมูลก่อนสิ้นสุดสัญญาแต่ไม่มีใครสนใจ ผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่เองก็ไม่เข้าประมูล จะใช้สิทธิในการเยียวยาได้หรือเปล่า จะอภิปรายกันในที่ประชุมวันนี้"นายฐากร ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์เช้าวันนี้
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ กสทช.เปิดประมูลคลื่น 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งเป็นเป็นผู้รับสัมปทานคลื่นรายเดิม กลับไม่ใช้สิทธิเข้าประมูล แต่ต้องการใช้สิทธิในมาตรการเยียวยาเพื่อคุ้มครองลูกค้าที่ใช้บริการก่อนที่จะมีเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการต่อ
นายฐากร มองว่าการกระทำของ DTAC เป็นเหมือนการกดดันให้ กสทช.ทบทวนราคาประมูลที่ DTAC เห็นว่าสูงเกินไป แต่เมื่อ DTAC ไม่เข้าประมูลแต่ต้องการใช้สิทธิมาตรการเยียวยาจะทำได้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรจะประกาศให้ลูกค้า 1800MHz ของ DTAC ทราบว่าจะสิ้นสุดสัญญาสัปมทานแล้วให้ย้ายไปใช้ค่ายอื่นแทน
อนึ่ง ลูกค้า 1800 MHz ของ DTAC อยู่ในระบบอีกประมาณ 470,000 เลขหมาย
ส่วนกรณีที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรช่น (TRUE) ในนามทรูมูฟเอช และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ไม่เข้าร่วมประมูล เข้าใจว่าเป็นเพราะจะทำให้ทั้งสองบริษัทมีภาระการเงินสูงมาก เพราะหากชนะประมูลคลื่น 1800 MHz จะต้องจ่ายค่าประมูลงวดแรก 50% ของราคาประมูล หากราคาประมูลอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ก็จะต้องจ่าย 1.9 หมื่นล้านบาททันที และในปี 62 ก็ต้องจ่าย 25% และปี 63 ก็จ่ายอีก 25% หรือคิดเป็นปีละประมาณ 9,500 ล้านบาท
ขณะที่ทั้งสองรายต้องการเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ในปี 63 คงจะต้องมีภาระลงทุนในปี 62 ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทเพื่อเตรียมการ อีกทั้งในปี 63 ยังต้องมีภาระชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz อีก 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดต้องจัดหาเงินทุนจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว
นายฐากร กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ไม่มีผู้ยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz นั่น กสทช.คงจะต้องปรับปรุงเงื่อนไขที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งเงื่อนไขใดที่เป็นอำนาจของ กสทช.ก็จะดำเนินการไป แต่หากอยู่นอกเหนืออำนาจของ กสทช.ก็จะเสนอต่อรัฐบาล และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่คงไม่มีการปรับลดราคาประมูลลง
"เราคงจะปรับลดราคาไม่ได้"นายฐากร กล่าว