ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและองค์กรของ JMART ที่ระดับ "BBB/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 18, 2018 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. เจมาร์ท (JMART) ที่ระดับ "BBB" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการแข่งขันที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทคือการจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินการของ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงรายได้ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจากความหลากหลายของธุรกิจซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนแนวโน้มที่บริษัทจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อการขยายธุรกิจให้หลากหลาย รวมถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้จากลูกค้าในธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล และธุรกิจให้เช่าพื้นที่ที่ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ส่วนแบ่งทางการตลาดที่คงที่และรายได้ที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจหลัก บริษทเจมาร์ท โมบาย เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศไทยทั้งในส่วนของการค้าส่งและค้าปลีก บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.0% ของมูลค่าการจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2560 ซึ่งเป็นอันดับ 1 ในประเทศตามข้อมูลของ GFK ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลสากล ยอดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวมรายได้จากกิจกรรมส่งเสริมการขาย) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 10,073 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มขึ้น 11.0% จากปี 2559 ซึ่งมาจากยอดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และกล้องถ่ายรูปที่เพิ่มขึ้นโดยผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทในเครือ

ผลกำไรจากธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินช่วยสนับสนุนผลการการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่ม

ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทมากที่สุดซึ่งคิดเป็น 80.0% ของรายได้รวมจำนวน 12,634 ล้านบาทของกลุ่มบริษัทเจมาร์ทในปี 2560 แต่ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่ค่อนข้างต่ำที่ 16.0%-17.0% จึงทำให้ในด้านของกำไรสุทธิแล้ว ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สร้างกำไรที่ระดับ 58.0% ของกำไรสุทธิรวมของกลุ่มบริษัท ในขณะที่ธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินและรายได้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) สร้างรายได้เพียง 15.0% ของรายได้รวมในปี 2560 แต่สร้างกำไรถึง 48.0% ของกำไรสุทธิรวม อันเป็นผลมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ค่อนข้างสูงจากบริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ที่ระดับ 50.0%-60.0%

รายได้จากการให้บริการติดตามหนี้สินและบริการอื่นอยู่ที่ 1,356 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มขึ้น 27.0% จากปี 2559 โดยมาจากธุรกิจหลัก 2 ประเภท ได้แก่ การซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารและการให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 82.0% และ 18.0% ของรายได้รวมในปี 2560 ตามลำดับ

ธุรกิจการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้คงค้างอยู่ที่ 5,143 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 จากข้อมูลในช่วงปี 2549-2559 บริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ซื้อหนี้เสียในอัตราลดราคาโดยเฉลี่ยที่ 94.0% ในขณะที่ผลสำเร็จในการจัดเก็บเงินกู้ต่อเงินลงทุนที่ซื้อสะสมคิดเป็น 89.0% ซึ่งรายได้จากธุรกิจนี้สร้างอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ 3.0% และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยที่ 13.0% ของกลุ่มในปี 2560 รายได้จากการติดตามเร่งรัดหนี้สินก็เติบโตมากเช่นกันโดยเพิ่มขึ้นที่ระดับ 79.0% เป็น 242 ล้านบาทในปี 2560

ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นทำให้มีผลประกอบการโดยรวมแย่ลง บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ซึ่งดำเนินการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผลการดำเนินงานขาดทุนจำนวน 48 ล้านบาทในปี 2560 และ 187 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2561 เนื่องจากได้สำรองหนี้เสียจำนวนมากจากพอร์ตลูกหนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2559 ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัท เจ ฟินเทค เติบโตขึ้นเป็น 3,475 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 จาก 2,209 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 อันเนื่องมาจากการที่บริษัทปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลในรูปแบบของเงินหมุนเวียนสำหรับการอุปโภคและบริโภคและเงินผ่อนชำระในการซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ดำเนินการโดยบริษัทเจมาร์ท โมบาย เป็นหลัก

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 7.5% ณ เดือนมีนาคม 2561 จาก 5.0% ณ สิ้นปี 2559 บริษัทได้ตั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองจำนวนมากถึง 389 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2561 โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารซึ่งเพิ่มขึ้นที่ระดับ 44.0% เป็น 756 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2561 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในมุมมองของทริสเรทติ้งพิจารณาว่ากระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่ไม่รัดกุมพออาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและมีภาระในการสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นหากมีการขยายตัวอย่างมากของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ยังค่อนข้างน้อยโดยอยู่ที่ระดับ 42.5% ณ เดือนมีนาคม 2561 เนื่องด้วยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีฐานรายได้ต่ำ บริษัทจึงควรตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้สูงขึ้นเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ได้

ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ยังคงต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์

บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเจมาร์ทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวซึ่งมีแนวโน้มที่ดี พื้นที่ให้เช่าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในศูนย์การค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ โดยเปิดให้ลูกค้ารายย่อยขนาดเล็กเช่าพื้นที่ต่อเพื่อจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ให้เช่าดังกล่าวอยู่ภายใต้ชื่อแบรนด์ "IT Junction" ซึ่งมีสาขาจำนวน 52 แห่งทั่วประเทศ ด้วยพื้นที่ให้เช่ารวมทั้งสิ้น 11,168 ตารางเมตร (ตร.ม.) และมีอัตราการเช่าโดยเฉลี่ยที่ระดับ 84.0% ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีแผนจะขยายสาขา IT Junction ภายในศูนย์การค้าต่าง ๆ อีก 8 สาขาในปี 2561

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนในการก่อสร้างและบริหารพื้นที่ให้เช่าในศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) อีก 3 แห่งในเขตกรุงเทพฯ โดยพื้นที่ให้เช่ารวมของทั้ง 3 โครงการมีทั้งสิ้นประมาณ 35,500 ตร.ม. และอยู่ภายใต้แบรนด์ชื่อ "JAS Urban" ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีอัตราการเช่าแล้วโดยเฉลี่ยที่ 87.0% ณ สิ้นปี 2560 บริษัทยังได้ขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ โครงการคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ "New Era" และการบริหารธุรกิจร้านอาหาร "Casa Lapin" และร้านกาแฟ "Rabb Coffee"

ธุรกิจดังกล่าวสร้างรายได้และกำไรค่อนข้างน้อยเพียง 5.0% และ 1.0% ตามลำดับในปี 2560 การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องอาจสร้างรายได้ที่มากขึ้นให้แก่กลุ่มบริษัทได้ในอนาคตหากมีการบริหารจัดการที่ดี แต่แผนการขยายธุรกิจที่รวดเร็วก็เป็นสิ่งนี่น่ากังวลเนื่องจากจะสร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การแข่งขันทางด้านราคาของธุรกิจให้เช่าพื้นที่ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรในอนาคตด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท สร้างอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยได้เพียง 0.3% ให้แก่กลุ่มในปี 2560 เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูง

ภาระหนี้ปรับตัวสูงขึ้น

ภาระหนี้ของบริษัทเจมาร์ทปรับตัวสูงขึ้นจากแผนการขยายธุรกิจผ่านบริษัทลูกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เงินกู้รวมเพิ่มขึ้น 40.0% เป็น 11,231 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 จาก 7,996 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 เงินกู้คาดว่าจะยังคงสูงเนื่องจากบริษัทลูกทั้ง 3 แห่งคือ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท และบริษัท เจ ฟินเทค กำลังเติบโต อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้ว (รวมการตัดจำหน่ายเงินลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพของ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส แล้ว) ต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 32.5% ณ สิ้นปี 2560 จาก 27.3% ณ สิ้นปี 2559

เงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้กำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 เท่า ณ เดือนมีนาคม 2561 จาก 2.7 เท่า ณ เดือนธันวาคม 2559 ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะไม่มีการกู้เงินจำนวนมากเพื่อขยายธุรกิจและคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 4 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทคือการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เอาไว้ได้ต่อไปและผลการดำเนินงานของบริษัทลูกหลักทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส และบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะเวลาอันใกล้ยกเว้นในกรณีที่สถานะทางการเงินโดยรวมของบริษัทจะแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและการลงทุนใหม่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจำนวนมากได้ ในขณะที่ความกดดันทางด้านลบต่ออันดับเครดิตจะเกิดจากการลงทุนในเชิงรุกที่สร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของบริษัทเองหรือของบริษัทลูกโดยเฉพาะบริษัท เจ ฟินเทค ก็อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ