นายนันทสิทธิ์ เล็กศรีสกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และการเงิน และปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บมจ.อสมท (MCOT) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าลดผลการขาดทุนในปีนี้ให้ลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2.54 พันล้านบาท และจะพยายามรักษารายได้ให้อยู่ในระดับเดียวกับปีก่อนที่ 2.74 พันล้านบาท โดยกลยุทธ์การดำเนินงานจะลดการพึ่งพารายได้จากการขายโฆษณาของสื่อทีวีและวิทยุ และหันไปกระจายรายได้ในธุรกิจใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อพลิกฟื้นผลการดำเนินงาน
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับ Broadcast ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3/61 หลังจากที่ล่าสุดบริษัท ได้มีความร่วมมือทดสอบการให้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 2.6 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) ด้วยเทคโนโลยี Broadband Wireless Access (BWA) ร่วมกับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิอร์ค จำกัด (AWN), บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการส่งข้อมูลชี้แจงต้นทุนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (MUX) ให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ฝ่ายกฏหมายตรวจข้อมูลของหนังสือดังกล่าว ก่อนที่จะส่งให้กับกสทช.ในเร็วๆนี้ โดยในแง่ของการดำเนินธุรกิจบริษัทยืนยันว่าหากลดค่าเช่าโครงข่าย MUX แล้วจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทที่ลดลงไปอีก เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวประสบผลการขาดทุนอยู่ เพราะมีจำนวนผู้เช่าน้อยและไม่เต็มตามจำนวนที่กสทช.การันตีตั้งแต่ช่วงก่อนการประมูลช่องทีวีดิจิทัลว่าจะมีช่องทีวีสาธารณะเข้ามาใช้บริการโครงข่าย ซึ่งปัจจุบันไม่มีช่องทีวีสาธารณะเกิดขึ้น
"ปัจจุบันอสมท.แบกรับภาระต้นทุนในการให้บริการโครงข่าย MUX ซึ่งต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นที่ลดค่าเช่าโครงข่ายไปก่อนหน้า ซึ่งในมุมมองของบริษัทไม่สามารถที่จะลดค่าให้บริการ MUX ได้แม้แต่บาทเดียว ซึ่งหากกสทช.ต้องการให้อสมท.ลดค่าเช่า MUX ลงจริง ๆ ควรที่จะจ่ายค่าชดเชยมาให้เรา แต่ก็ยืนยันว่ายังไม่ยกเลิกการทำธุรกิจให้เช่า MUX เพราะเป็นสิ่งเราลงทุนไปแล้วแม้ว่าจะยังขาดทุนอยู่ก็ตาม"นายนันทสิทธิ์ กล่าว
นายนันทสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีช่องสปริงนิวส์ ที่ไม่จ่ายค่าเช่า MUX จนทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองฯในไตรมาสแรกที่ผ่านมา 10 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 2/61 ก็ยังคงต้องตั้งสำรองฯกรณีของช่องสปริงนิวส์ต่อไปอีกจำนวนราว 10 ล้านบาท ในทุก ๆ ไตรมาสไปจนกว่าทางช่องสปริงนิวส์จะชำระค่าเช่า MUX มาจนครบ ซึ่งการตั้งสำรองฯดังกล่าวไม่รวมค่าปรับและดอกเบี้ย
ด้านความคืบหน้าการพัฒนาที่ดินบริเวณศูนย์วัฒนธรรมฯและสำนักงานใหญ่อสมท. จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวม 70 ไร่ รวมมูลค่าที่ดินเกือบ 1 หมื่นล้านบาท (ที่ดินศูนย์วัฒนธรรมฯ 50 ไร่ มูลค่า 5 พันล้านบาท และที่ดินสำนักงานใหญ่อสมท. 20 ไร่ มูลค่า 4-5 พันล้านบาท) บริษัทจะเตรียมออกประกาศเชิญชวน (TOR) เพื่อหาที่ปรึกษาจัดทำรายละเอียดพัฒนารูปแบบโครงการของที่ดินดังกล่าวในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นโครงการ PPP โดยจะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งขั้นตอนหลังจาก TOR แล้วเสร็จจะให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นคาดว่าแล้วเสร็จปลายเดือนต.ค.61 และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในช่วงเดือนพ.ย.61 และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ไม่เกินเดือนธ.ค.61
ทั้งนี้ คาดว่าสคร.จะใช้ระยะเวลาการพิจารณาประมาณ 9 เดือน และหล่งจากนั้นคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงไตรมาส 3/62 ซึ่งหากครม.อนุมัติแล้วคาดว่าจะสามารเริ่มพัฒนาโครงการได้จริงในช่วงต้นปี 63 โดยที่การพัฒนาที่ดินดังกล่าวจะช่วยเข้าชดเชยรายได้ของสัมปทานการเช่าโครงข่ายของช่อง 3 และกลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่จะหมดในปี 63 ได้
ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ MCOT กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการบนคลื่นความถี่ย่าน 2.6 GHz ซึ่งมีบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด คู่สัญญา เป็นผู้บริหารโครงการฯ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีความคืบหน้าในด้าน ต่าง ๆ มากมายอาทิ การได้รับการปรับปรุงเทคโนโลยีของโครงข่ายให้เป็น BWA และการได้รับเลขรหัสโครงข่าย (MNC) สำหรับเทคโนโลยี BWA โดยกสทช. และล่าสุดโครงการฯ ได้รับอนุญาตเกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมต่าง ๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องโดยครบถ้วนจากสำนักงาน กสทช. แล้ว ทำให้ขณะนี้โครงการพร้อมที่จะดำเนินการทดลองเชิงการตลาด (Market Trial) ตั้งแต่เดือนนี้
โดยที่จะใช้ระยะเวลาการทดลองออกอากาศเป็นระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 30 จุด ในกรุงเทพฯและจังหวัดในหัวเมืองใหญ่ และหลังจากนั้นจะนำข้อมูลมารวบรวมเพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนต่อไป ซึ่งในช่วงการทดลองบริษัทไม่มีการใช้เงินลงทุน โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการออกอากาศเชิงพาณิชย์แบบ Pay TV ผ่านช่องทางการรับชมผ่านทีวี โทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์ ในช่วงต้นปี 62 โดยที่บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด จะเป็นผู้ทำการตลาดและช่วยจัดหาคอนเทนต์ให้ โดยการันตีรายได้ให้กับ MCOT ราว 300 ล้านบาท/ปี หลังจากเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ ส่วนพันธมิตรอีก 2 ราย AWN และ TUC จะเป็นผู้ช่วยในด้านกระจายสัญญาณให้กับการให้บริการผ่านเทคโนโลยี BWA
"ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นปรากฏการณ์ความร่วมมือของทั้งฝั่งบรอดคาสติ้งและผู้ให้บริการโครงข่ายจากสองบริษัทค่ายยักษ์ใหญ่ และยังเป็นมิติใหม่ของวงการสื่อสารมวลชนของไทย ที่เป็นผู้สร้างสรรค์บริการสื่อโทรทัศน์ในรูปแบบใหม่ อันตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์"นายเขมทัตต์ กล่าว
นายเขมทัตต์ กล่าวว่า ส่วนการตัดสินใจคืนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ที่มีอยู่ 144 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ให้กับกสทช.ที่ก่อนหน้านี้บริษัทจะคืน 90 MHz นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอระเบียบในการเรียกคืนคลื่นความถี่ของกสทช. โดยที่บริษัทจะเข้าไปเจรจากับกสทช.ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของจำนวนคลื่นที่จะคืนให้กสทช. เนื่องจากบริษัทเห็นว่ายังมีความต้องการนำคลื่น 2.6 GHz บางส่วนที่จะต้องไปรองรับการออกอากาศบนคลื่น 2.6 GHz ด้วยเทคโนโลยี BWA ของธุรกิจใหม่