นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมองว่าจะยังเติบโตขึ้น จากการลงทุนต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีการลงทุนใน 10 คลัสเตอร์ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามามากขึ้น ซึ่งเมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้นมากจะส่งผลให้ความต้องการใช้สินเชื่อมีเพิ่มมากขึ้นตาม โดยที่ภาพรวมของสินเชื่อรวมของธนาคารกรุงเทพในช่วง 6 เดือนนี้ ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ และคาดว่าสินเชื่อรวมทั้งปีจะเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้เติบโต 5%
ขณะที่สัดส่วนหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ของธนาคารมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นและลดลงตามภาวะในช่วงนั้น แต่ไม่มีความน่าเป็นห่วงของ NPL ในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารมีการติดตามและแก้ปัญหาอยู่ตลอด รวมถึงการช่วยเหลือลูกค้าให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้
สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ธนาคารเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อประเทศไทย และภูมิภาคในอาเซียน เนื่องจากยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อทั้ง 2 ประเทศ ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากไทยในช่วงนี้ มองว่ายังไม่น่ากังวล เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง อีกทั้งเชื่อว่าทางการ และทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแล และรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ โดยในส่วนภาคของธนาคารพาณิชย์มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้
นายชาติศิริ กล่าวเปิดงาน AEC Business Forum 2018 จับเทรนด์ Rising City, Rising Business หนุนผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ตลาดอาเซียน ว่า ประเทศอาเซียนมีศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราการขยายตัวที่ดีเฉลี่ย 6.5-8.5% และมีจำนวนประชากรรวมกัน 630 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสและความน่าสนใจที่ดีในการเข้าไปขยายธุรกิจ โดยที่ประเทศในอาเซียน 5 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนและเป็นผู้ถ่ายทอดความและเทคโนโลยีไปสู่ประเทศอี่นๆในอาเซียน ทำให้เกิดองค์ความรู้ต่างๆเพื่อไปพัฒนาศักยภาพของประเทศอื่นๆที่อยู่ไนอาเซียน
การรวมกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นถือว่ามีความเข้มแข็ง ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 58 และได้สร้างความร่วมมือกันในภูมิภาค ทำให้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น จากการมีเทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาก ประกอบกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูง ด้วยมูลค่า GDP ของอาเซียนในปัจจุบันที่มีมูลค่ารวม 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปีข้างหน้า ทำให้เป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก อีกทั้งการมีดินแดนที่เชื่อมต่อกับจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกตามลำดับ ทำให้อาเซียนมีความน่าสนใจมากขึ้น และสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลกได้
"อาเซียนอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ดี สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ซึ่งมีแผ่นดินติดกัน และศักยภาพไนการเติบโตของเศรษฐกิจนี้เอง ทำให้เกิดการเข้ามาลงทุนมากขึ้น รวมถึงการที่รายได้ของประชากรในภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อเพิ่ม และมีการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นตาม แต่สิ่งสำคัญที่จะเป็นปัจจัยหลักที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ ดิจิทัล ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และผลักดันให้เกิดการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้มากขึ้น"นายชาติศิริ กล่าว
โดยที่ด้านการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลของอาเซียน จะเริ่มเห็นผู้ประกอบการต่างๆในอาเซียนเริ่มมีการลงทุนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) การใช้เทคโนโลยีแบบ Internet of things เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศนั้นนอกจากจะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว ปัจจัยที่สำคัญของการทำธุรกิจในต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จ คือ การมีพันธมิตรที่ดี และมีประสบการณ์ รอบรู้เรื่องธุรกิจและเข้าในประเทศนั้นๆอย่างดี และช่วยวางแผนการดำเนินธุรกิจได้ตรงจุด ซึ่งการได้ความร่วมมือที่ดีนั้นจะเป็นการกระสานพลังที่ทำให้การทำธุรกิจในต่างประเทศประสบความสำเร็จ