SUPER คาดกำไรช่วง 5 ปีเติบโตดีกว่ารายได้ที่คาดโตปีละ 20-25% ,รุกตลาด Private PPA-เร่งสร้างโรงไฟฟ้าในมือ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 19, 2018 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) คาดว่ากำไรในช่วง 5 ปี (ปี 61-65) จะเติบโตได้ดีกว่ารายได้ที่คาดขยายตัวปีละ 20-25% ตามการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากสามารถขายไฟฟ้าที่ได้มาร์จิ้นที่ดี ขณะที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือสำหรับในประเทศราว 840 เมกะวัตต์ (MW) โดยในส่วนนี้ COD แล้ว 753 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 3 แห่ง กำลังผลิตรวมราว 30 เมกะวัตต์ COD ในปี 62-63 , โซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ระยะที่ 2 ราว 28 เมกะวัตต์ COD ในปี 61, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm จำนวน 32 เมกะวัตต์ COD ในปี 64 ขณะที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม อีก 700 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จะทยอย COD ในช่วง 5 ปีนี้ เริ่มตั้งแต่ Q3/62

นอกจากนี้ ยังมองหากำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อซื้อโซลาร์ฟาร์มในประเทศที่ COD แล้วคาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3/61 และล่าสุดได้เข้าซื้อบริษัทที่จะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ตามโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้า ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) โดยบริษัทดังกล่าวคาดว่าจะเป็นผู้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าขยะชุมชนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หนองคาย มีขนาดกำลังผลิตราว 10 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการเปิดรับให้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งคาดว่าจะได้เริ่มก่อสร้างในปี 62

รวมถึงยังอยู่ระหว่างรอการประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขยะชุมชนของอบจ.นนทบุรี ขนาด 20 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนราว 5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในปลายเดือนมิ.ย.61 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการเดิมก่อน Quick Win Projects หากได้รับคัดเลือกแล้วคาดว่าจะสามารถยื่นขอ PPA ต่อกกพ.ได้ทันที ตลอดจนมีแผนจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างของภาคเอกชน (Private PPA) ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะมี 60 เมกะวัตต์ในปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทใหญ่ 1 แห่งในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งหมด 5 โครงการ กำลังผลิตรวมกว่า 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในไตรมาส 3/61 และพร้อมที่จะจ่ายไฟฟ้าได้ในช่วงปลายปีนี้ และตั้งเป้าจะมี Private PPA ปีละประมาณ 100 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันยังมองหาการลงทุนในต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญที่เวียดนามเป็นหลัก หลังตลาดพลังงานทดแทนมีการเติบโตอย่างมาก โดยคาดว่าจะได้ PPA สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มในเวียดนามในปีนี้ 200 เมกะวัตต์ โดยคาดจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.61 รวมถึงยังมองโอกาสพลังงานทดแทน ประเภทโซลาร์ และลม ในฟิลิปปินส์ ,ไต้หวัน ,เกาหลีใต้ ,ลาว ,กัมพูชาด้วย ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มในจีน ขนาด 20 เมกะวัตต์ ที่บริษัทคาดว่าจะลงทุนก่อนหน้านี้นั้น ปัจจุบันแม้โครงการจะได้เริ่ม COD แล้วเมื่อปี 60 แต่บริษัทก็ได้ชะลอแผนลงทุนตั้งแต่ต้นปีนี้ หลังจากที่จีนเริ่มจะปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานทดแทนด้วยการลดเงินสนับสนุนลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อกำไรที่จะได้รับ ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนมากขึ้น หากมีทิศทางไม่ดีก็จะไม่เข้าไปลงทุนจากเดิมที่บริษัทได้จ่ายเงินลงทุนเพียงในส่วนของแบงก์การันตีเท่านั้น

"ในช่วง 5 ปี เราตั้งเป้ารายได้เติบโตปีละ 20-25% ตามการ COD ที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่กำไรก็น่าจะโตดีกว่าเล็กน้อย เพราะเราขายได้มาร์จิ้นสูงกว่า"นายจอมทรัพย์ กล่าว

นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมเงินลงทุนราว 2.5 พันล้านบาท สำหรับในปี 62 เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 3 แห่ง ได้แก่ จ.พิจิตร และจ.หนองคาย ที่จะ COD ในปลายปี 62 และจ.เพชรบุรี COD ปี 63 กำลังผลิตราวแห่งละ 10 เมกะวัตต์ มีมูลค่าลงทุนรวม 4.2 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% โดยในส่วนนี้จะใช้เงินกู้โครงการเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เหลือเงินทุนราว 1 พันล้านบาท และใช้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในเวียดนาม 700 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปี ซึ่งจะใช้เงินกู้โครงการเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ใช้เงินส่วนทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปี คิดเป็นส่วนทุนที่บริษัทถืออยู่ 51% ก็จะต้องใช้เงินส่วนทุนของบริษัทราวปีละ 1.4 พันล้านบาทในช่วง 5 ปีจากนี้

อย่างไรก็ตามเม็ดเงินที่จะใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ นั้น จะมาจากกระแสเงินสดที่จะเข้ามาราว 5.2 พันล้านบาท/ปี โดยในส่วนนี้จะใช้ชำระหนี้ราว 3 พันล้านบาท/ปี ส่วนที่เหลือจะรองรับการลงทุน และบริษัทยังมีศักยภาพในการกู้เงินด้วย จากปัจจุบันที่มีภาระหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ราว 1.8-1.9 เท่า ขณะที่มีภาระหนี้สินระยะยาวราว 2.2 หมื่นล้านบาท ที่มีอายุ 12-14 ปี

โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อขออนุญาตจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund :IFF) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงปลายเดือนก.ค. และคาดว่าจะสามารถขายหน่วยลงทุนได้ในช่วงปลายเดือนต.ค.-ต้นพ.ย. ซึ่งบริษัทจะใช้โซลาร์ฟาร์มขนาด 118 เมกะวัตต์ ขายเป็นสินทรัพย์เข้ากองทุน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะได้รับเงินราว 9 พันล้านบาท และมีกำไรจากการขายสินทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง โดยเงินที่ได้จะนำไปชำระหนี้ราว 3-4 พันล้านบาท ,ใช้ซื้อสัดส่วนการถือหุ้นในกองทุนราว 1 พันล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นราว 10-15% ส่วนที่เหลืออีกราว 4 พันล้านบาท ใช้รองรับการขยายงานของบริษัท

อย่างไรก็ตามในเดือน ก.ค.นี้ บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ในประเทศ วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ก่อนในระยะเริ่มแรก โดยหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นกู้ที่ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นไว้ 3.6 หมื่นล้านบาท ส่วนหุ้นกู้ที่เหลือมีแผนจะทยอยออกเป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อใช้รีไฟแนนซ์ลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยตามแผนการระดมเงินในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำบริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนักในขณะนี้ ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันไปลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในต่างประเทศที่ยังมีศักยภาพการเติบโต เช่น เวียดนาม ,ไต้หวัน ,เกาหลีใต้ ,อินเดีย ,บังคลาเทศ ส่วนในประเทศก็จะหันไปให้ความสำคัญกับการลงทุนประเภท Private PPA เป็นหลัก ขณะที่ยังมองว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ของประเทศ ที่รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงนั้น ควรจะยังคงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างน้อย 30% ไว้เช่นเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ