รายงานข่าวจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันนี้มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) วงเงินลงทุน 42,084.564 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ ทอท.เสนอโครงการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครมง) พิจารณาต่อไป
สำหรับรายละเอียดโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ.ประกอบด้วย (1) งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A มีพื้นที่ประมาณ 348,000 ตารางเมตร เป็นอาคารแบบ Multi-Terminal สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งปรับปรุงลานจอดอากาศยานให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสารโดยมีหลุมจอดประมาณ 14 หลุมจอด
(2) งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน A, B และ C (3) งานก่อสร้างอาคารบริการท่าอากาศยานครบวงจร (Airport Multiplex Building: AMB) ด้านทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่อาคารประมาณ 84,000 ตารางเมตร สามารถจอดรถยนต์ในอาคารได้ประมาณ 1,000 – 1,500 คัน และมีลานจอดรถยนต์ภายนอกอาคารอีกประมาณ 1,500 – 2,000 คัน
(4) งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ โดยเป็นระบบรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก (MTB) และอาคารเทียบเครื่องบิน A ในปัจจุบัน ไปยังอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และเชื่อมต่อการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link มีระยะทางรวมทั้งระบบยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร (5) งานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี และเชื่อมต่อกับระบบของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน
(6) งานก่อสร้างระบบถนนภายในท่าอากาศยานเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้า-ออกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และ (7) งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการฯ นอกจากนั้นจะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการภายในท่าอากาศยาน ตลอดจนการใช้พื้นที่ใช้สอยอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน รวมถึงตระหนักในเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน
ทั้งนี้ ทอท.จะเสนอโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พร้อมวงเงินลงทุนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทอท.แล้วให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 62 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 64