นายอดิศักดิ์ ตั้งตรงเวชกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด ในกลุ่ม บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า กลุ่ม BRR มีแผนจะสร้างโรงงานน้ำตาลพร้อมโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ใน 2 พื้นที่ กำลังการผลิตน้ำตาลแห่งละ 20,000 ตันอ้อย/วัน ใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 4-5 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ใน อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ ภายในข่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากแล้วเสร็จก็จะจัดทำ EIA สำหรับการจัดตั้งโรงงานอีกแห่งใน จ.สุรินทร์ต่อไป
"ปัจจุบันเราได้ใบอนุญาตโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 พื้นที่แล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการทำ EIA สำหรับที่ชำนิ คงต้องใช้เวลาในช่วง 2-3 ปีนี้ เรื่องอ้อยไม่มีปัญหาเพราะพื้นที่อยู่ห่างจากที่ตั้งโรงงานน้ำตาลปัจจุบัน 60 กิโลเมตร สามารถ support ได้"นายอดิศักดิ์ กล่าว
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมีโรงงานน้ำตาลใน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กำลังผลิต 23,000 ตันอ้อย/วัน มีกากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลกว่า 7.5 แสนตัน/ปี ซึ่งจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 29.7 เมกะวัตต์ (MW) โดยโรงไฟฟ้า 2 แห่งขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 16 เมกะวัตต์ สมารถสร้างรายได้แห่งละประมาณ 200 ล้านบาท/ปี ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 1 แห่ง จะขายไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม BRR สามารถสร้างรายได้ได้ราว 48 ล้านบาท/ปี
ขณะที่ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนหม้อต้มใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการใช้พลังงานลดลงราว 10-15% และทำให้มีกากอ้อยเหลือจากกระบวนการผลิตราว 1 แสนตัน/ปีตั้งแต่ปี 62 เพียงพอที่จะใช้จัดสรรสำหรับรองรับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลได้อีกแห่ง ขนาด 8-10 เมกะวัตต์ แต่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นยังขึ้นกับนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ ปริมาณกากอ้อยที่เหลือยังเพียงพอสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิตภาชนะจากชานอ้อยที่กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานมูลค่าลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท กำลังการผลิตราว 1 ล้านชิ้น/เดือน คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาในช่วงต้นปี 63 ซึ่งจะเป็นการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศสัดส่วน 50:50 หลังมองตลาดมีโอกาสเติบโตโดยเฉพาะในยุโรปที่ปัจจุบันการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลง
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทยังมองโอกาสการลงทุนธุรกิจไบโอชีวภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นทิศทางของโลกที่มุ่งสู่ธุรกิจดังกล่าวด้วย โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทก็มีการศึกษาวิจัยในหลายผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ขณะนี้ แต่ในเบื้องต้นจะเป็นการลงทุนในผลิตภาชนะจากชานอ้อยก่อน
สำหรับโรงไฟฟ้าของ BRR 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และโรงไฟฟ้า บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมประกวดอาเซียน รีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี่ โปรเจค คอมเพทติชั่น (ASEAN Renewable Energy Project Competition) ทั้งสองแห่ง โดย BEC เข้าร่วมประกวดและคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโคเจนเนอเรชั่นในปี 60 ส่วน BPC เข้าร่วมประกวด ปี 61 ซึ่งจะตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือน ต.ค.ที่ประเทศสิงคโปร์