บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ไทยคม (THCOM) ที่ระดับ "A-" ในขณะเดียวกันยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" ด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากการสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยในตลาดหลัก และการแข่งขันทางด้านราคา ทั้งนี้ บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในสร้างรายได้จากลูกค้าใหม่และมีแรงกดดันในการที่จะต้องฟื้นฟูความสามารถในการทำกำไรที่กำลังถดถอยลง
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่มีลักษณะเฉพาะในการเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย อันดับเครดิตยังได้รับแรงสนับสนุนจากสภาพคล่องที่เพียงพอและภาระหนี้ในระดับปานกลางของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดหลายประการไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันจากโครงข่ายการสื่อสารภาคพื้นดินซึ่งเป็นโครงข่ายทางเลือกและความเสี่ยงทางด้านกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต รายได้ลดลงจากอัตราการใช้ดาวเทียมบรอดแบนด์ที่ลดลงอย่างมาก อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ (ดาวเทียมไอพีสตาร์) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 55% ในปี 2559 เหลือ 26% ในปี 2560 อันเป็นผลจากการสิ้นสุดสัญญาของลูกค้ารายใหญ่ทั้งในประเทศออสเตรเลีย (โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติออสเตรเลีย หรือ National Broadband Network -- NBN) รวมถึงในประเทศไทย (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)) และในประเทศจีน (Synertone Communication Corporation) ซึ่งทำให้รายได้จากธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ลดลง 31% ในปี 2560 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ในขณะที่อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไป (ดาวเทียมไทยคม 5-8) ค่อนข้างเสถียรในช่วงระหว่างปี 2559 ถึงปี 2560 บริษัทมีลูกค้าใหม่จากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งเป็นตลาดใหม่เพิ่มเข้ามาทดแทนอัตราการใช้ช่องสัญญาดาวเทียมที่ลดลงของลูกค้าในประเทศไทยซึ่งเป็นตลาดหลัก ทั้งนี้ รายได้โดยรวมจากธุรกิจดาวเทียมของบริษัทในปี 2560 ลดลง 23% จากปีก่อนโดยเหลือ 6,475 ล้านบาท ในขณะที่อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของทั้งดาวเทียมไอพีสตาร์และดาวเทียมแบบทั่วไปในไตรมาสแรกของปี 2561 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงระยะปานกลางบริษัทจะยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการหาลูกค้าใหม่ในธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์เพื่อทดแทนลูกค้าที่เสียไปและอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไป (ดาวเทียมไทยคม 5-8) จะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในขณะที่การแข่งขันทางด้านราคาน่าจะยังคงรุนแรงเนื่องจากภาวะตลาดที่อ่อนตัวลงจากการลดลงของอุปสงค์การใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม นอกจากนี้ บริษัทยังจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการถูกทดแทนด้วยโครงข่ายการสื่อสารทางเลือกอื่นและจากผู้ประกอบการดาวเทียมรายอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้น รายได้จากธุรกิจดาวเทียมของบริษัทจึงน่าจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
เทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานดาวเทียม นวัตกรรมทางเทคโนโลยีล่าสุดสร้างโอกาสในการยืดอายุการใช้งานดาวเทียมด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการยิงดาวเทียมใหม่เป็นอย่างมาก ปัจจุบันโดรนอวกาศ (Space Drone) ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับที่เป็นนวัตกรรมชนิดใหม่ถูกปล่อยขึ้นไปในอวกาศเพื่อให้ไปเกาะติดกับดาวเทียมที่มีเชื้อเพลิงต่ำและรักษาตำแหน่งของดาวเทียมนั้นให้อยู่ในวงโคจรที่ถูกต้องต่อไปอีกเป็นเวลาหลายปีหลังจากที่ดาวเทียมหมดอายุการใช้งานแล้ว
ทั้งนี้ ดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 5 จะหมดอายุการใช้ในงานในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับช่วงหมดสัญญาสัมปทาน นวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทสามารถยืดอายุการใช้งานดาวเทียมออกไปได้อีก 5-10 ปีและยังจะช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการชะลอการยิงดาวเทียมดวงใหม่ออกไป นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดการยกเลิกสัญญาใช้บริการของลูกค้าได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องรอการอนุมัติเพื่อใช้เทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวจากรัฐบาลไทย ในระหว่างนี้ บริษัทกำลังแสวงหาโอกาสในการเติบโตจากการให้บริการสื่อสารความเร็วสูงผ่านดาวเทียมทางทะเล (Maritime Services) ซึ่งปัจจุบันยังเป็นธุรกิจที่เล็กและทำรายได้ไม่มากนัก แต่บริษัทก็วางแผนการที่จะขยายการให้บริการนี้จากที่ให้บริการอยู่ 20 ลำในปี 2560 จะเพิ่มเป็น 70-100 ลำภายในปี 2561
ผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลง การที่บริษัทสูญเสียลูกค้ารายสำคัญไปทำให้รายได้ในปี 2560 ลดลง 23% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 6,689 ล้านบาทและมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในปี 2560 เหลืออยู่ที่ประมาณ 2,600 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากระดับประมาณ 4,300 ล้านบาทในปี 2559 อันเป็นผลมาจากการมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนในการดำเนินงานที่ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ และรายได้ที่ลดลง
ในไตรมาสแรกของปี 2561 บริษัทมีรายได้ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 1,504 ล้านบาท บริษัทได้ขายเงินลงทุนจำนวน 42% ใน บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) และมีกำไรจากการขายเงินลงทุนสุทธิ 1,950 ล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษนี้แล้ว บริษัทยังมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานอยู่จำนวน 20 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2561-2563 จะยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนในการหาลูกค้าใหม่ กำไรจากการดำเนินงานในปี 2561 จะได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายการบริหารและการขายที่สูงและผลการดำเนินงานของธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ที่อ่อนตัวลง รายได้และกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในอนาคตจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการใช้สัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไป รวมทั้งการสร้างรายได้จากลูกค้าใหม่ในธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์และโครงการอินเตอร์เน็ตรายย่อยเป็นสำคัญ
ภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง โดยเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 7,446 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 ลดลงจากระดับ 10,225 ล้านบาทในปี 2559 เนื่องจากบริษัทมีการชำระคืนเงินกู้และไม่มีเงินลงทุนก้อนใหญ่ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในปี 2560 อยู่ที่ 32.8% ลดลงจากระดับ 35.1% ในเดือนธันวาคม 2559 ระดับภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะลดลงหากบริษัทไม่มีการลงทุนในโครงการดาวเทียมดวงใหม่ อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่เกิดขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจก็คาดว่ากระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีอยู่จะช่วยรองรับการลงทุนใหญ่ได้พอสมควร โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับไม่เกิน 50.0%
บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทั้งนี้ ในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอที่จะรองรับภาระผูกพันทางการเงินต่าง ๆ ได้ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินสดในมือจำนวน 2,469 ล้านบาทและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดมูลค่า 4,886 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 โดยที่จะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1,700-2,300 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะมาจากค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ประมาณปีละ 200-300 ล้านบาทและการจ่ายชำระหนี้ซึ่งรวมถึงเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 3,500 ล้านบาท
ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับธนาคารและผู้ถือหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนอยู่ที่ 0.7 เท่าซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าข้อกำหนด เมื่อพิจารณาจากนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงจากการสูญเสียลูกค้ารายใหญ่และการที่บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างรายได้และกำไรให้กลับมาแข็งแกร่ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตก็อาจได้รับการปรับเปลี่ยนกลับมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องโดยที่ยังคงความแข็งแกร่งทางการเงินเอาไว้ได้