นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ประธานกรรมการ บมจ.ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) (SPPT) เปิดเผยว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะประสบความสำคัญเข้าซื้อธุรกิจด้านไอทีอีก 1 ดีล ซึ่งการเจรจาตอนนี้มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก หลังจากล่าสุดบริษัทได้สรุปดีลการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท ไซแมท ซอฟท์ จำกัด (SSOFT)
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัท เอสพีพี อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ซึ่ง SPPT ถือหุ้น 99.99% เข้าซื้อกิจการ SSOFT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี (SIMAT) จำนวน 300,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท หรือคิดเป็น 100% ของทุนจดทะเบียนและชำระแล้วของ SSOFT รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20 ล้านบาท ขณะนี้ดำเนินการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว
สำหรับ SSOFT ประกอบธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรทั้งการ จำหน่ายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ การพัฒนาซอฟท์แวร์ และการให้บริการบำรุงรักษาทั่วประเทศ โดยพัฒนาซอฟท์แวร์ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ และบริหารการจัดส่งสินค้า (Logistic Management) ภายใต้ชื่อ Sky Frog โดยปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดและมีความเชี่ยวชาญในการ Implement ระบบให้กับลูกค้า มี Product หลัก คือ SKYFROG Transportation Management System (TMS) with Electronic Proof-of-Delivery (EPOD) & GPS Tracking Solution on Mobile ซึ่งมีลูกค้าให้ความไว้วางใจมากกว่า 50 บริษัท อาทิ Officemate (ในเครือ Central), ICC International (ในเครือสหพัฒน์) รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายบริษัท
"สาเหตุที่ทำให้ SPPT ตัดสินใจการเข้าซื้อหุ้น SSOFT ก็เพื่อเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติม และนำมาต่อยอดทางธุรกิจของบริษัทฯเนื่องจาก SSOFT เป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์และบริหารการจัดส่งสินค้า เป็นไปตามแผนธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายฐานรายได้ให้มีความแข็งแกร่ง โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายขยายไลน์ธุรกิจเข้าสู่การเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ แพลทฟอร์ม ด้านโลจิสติกส์ และด้านฟินเทค ให้บริการด้านการเงินอย่างครบวงจรในอนาคต"นายปกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการศึกษาแผนธุรกิจของ SSOFT มีรายได้จากการขายซอฟท์แวร์ขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการประมาณการรายได้และค่าใช้จ่าย SSOFT จะมีกระแสเงินสดและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลดีให้แก่บริษัทและผู้ถือหุ้น
ที่ผ่านมา SPPT ได้เข้าซื้อหุ้น บมจ.เทอร์ราไบท์ เน็ท โซลูชั่น (TERA) เพื่อขยายไลน์ธุรกิจจากการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มาสู่ธุรกิจวางระบบและให้บริการด้านไอที ซึ่งจะเริ่มสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯในปี 61 นี้ ขณะที่แนวโน้มก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน TERA มีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 400 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี มีคู่ค้าภาคเอกชนชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้บริษัทฯเป็นผู้วางระบบ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการยังดำเนินขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ 1. บริษัท เอสพีพี อินเทลลิเจนซ์ ดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้บริการแพลทฟอร์มด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ ให้กับผู้ประกอบการด้านขนส่ง และ 2.บริษัท เอสพีพี ฟินเทค จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้บริการ แพลทฟอร์ม ด้าน FinTech สำหรับให้บริการทางการเงินครบวงจร รองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิตอลที่มีจำนวนมากกว่า 50-60 ล้านคน ซึ่งตลาดนี้มีกำลังซื้อเป็นจำนวนมาก
"มั่นใจว่าภาพรวมธุรกิจในปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทฯ กลับมาเป็นบวก โดยสามารถมีรายได้ 500 ล้านบาทตามเป้าหมายจากการรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีของ TERA"นายปกรณ์ กล่าว