นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สมิติเวช (SVH) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 61 จะเติบโตราว 12-13% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากโรงพยาบาลหลัก 2 แห่ง คือ สมิติเวชศรีนครินทร์ และ สมิติเวชสุขุมวิท จากโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 7 แห่ง
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้นรายได้ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องตามที่บริษัทคาดการณ์ไว้ โดยในไตรมาสแรกรายได้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมา 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากมีการระบาดของไวรัสโรต้าและไข้หวัด อีกทั้งมีจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันคนไข้ของโรงพยาบาลในเครือ เป็นคนไข้ในประเทศ 60% และชาวต่างชาติ 40% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และ อาเซียนที่เดินทางเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางโรงพยาบาลสมิติเวชมีความชำนาญในด้านการรักษาทางเดินอาหาร กระดูกและข้อ และเด็ก ทำให้คนไข้ทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความไว้วางใจ
ประกอบกับ โรงพยาบาลในเครือได้มีการปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 1-2% ต่อปี ตามภาวะต้นทุนและความซับซ้อนของการรักษา โดยส่วนใหญ่การปรับค่ารักษาพยาบาลจะเน้นโรคที่มีความซับซ้อนและร้ายแรง ซึ่งจะปรับเพิ่มสูงกว่าโรคอื่นๆ โดยในปีนี้ได้ทยอยปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลไปแล้วไปเมื่อไตรมาสแรกที่ผ่านมา
นายแพทย์ชัยรัตน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมพิจารณาแผนลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลสำหรับเด็กเฟส 2 มูลค่าลงทุน 1.2 พันล้านบาท โดยใช้พื้นที่ว่างของโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนคริทร์ ที่เหลืออยู่ราว 31 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมด 44 ไร่ หลังจากพัฒนาเฟสแรกไปแล้ว 13 ไร่ ซึ่งโรงพยาบาลสำหรับเด็กเป็นหนึ่งศูนย์การแพทย์ที่สมิติเวชมีความเชี่ยวชาญ และมีคนไข้เข้ามาปรึกษาและรับการรักษาเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทตัดสินใจลงทุนในเฟส 2 ส่วนระยะเวลาการลงทุนนั้นอยู่ระหว่างการตัดสินใจ แต่เบื้องต้นได้ออกแบบไว้แล้ว
นอกจากนี้จะมีการลงทุนปรับปรุงบริเวณเลาจน์ของโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เพื่อให้คนไข้มีพื้นที่พักผ่อนและรอเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น โดยที่อาจจะร่วมมือกับพันธมิตรรายอื่น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของโรงพยาบาลในการเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้ามารับบริการทางการแพทย์ของคนไข้ ส่งผลให้คนไข้มีความพึงพอใจในการเข้ามารับการรักษามากขึ้น
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาสภาพคล่องหุ้น SVH ที่ยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยปัจจุบันอยู่ที่ 4.23% นั้น ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างหาแนวทางแก้ไข ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ยาก เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เป็นผู้ถือหุ้นที่มีสัดส่วนถือหุ้น 95.76% แต่บริษัทมองว่าประเด็นดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบใด ๆ และยังยืนยันที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียนใน ตลท.ต่อไป แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าปรับกรณีมีสภาพคล่องของหุ้นต่ำกว่าเกณฑ์ราว 2 ล้านบาท/ปี