นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ว่า จากการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ให้บีทีเอสย้ายการใช้งานคลื่นความถี่สื่อสารระบบอาณัติสัญญาณที่ 2480-2495 เมกะเฮิร์ซ (MHz) ซึ่งอยู่ช่วงปลายๆของคลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz จากที่บีทีเอสใช้งานอยู่ 2400-2495 MHz ให้ห่างออกไปจากคลื่น 2310-2370 MHz ที่ TOT ให้ DTAC ใช้มีอยู่ 3 slot จะได้ไม่ถูกรบกวนคลื่น ที่บีทีเอสใช้คลื่นไปใช้เป็นระบบวิทยุสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณ
ขณะเดียวกันบีทีเอสจะเร่งเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณวิทยุสื่อสารที่ใช้ ของ MOXA ที่เป็นของบอมบาดิเอร์จากเดิมใช้โมโตโรร่า โดยจะเปลี่ยนให้แล้วเสร็จในเที่ยงคืนของวันศุกร์นี้ (29 มิ.ย.) รวมทั้งให้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนคลื่นด้วย
"คลื่นที่ใช้งานกับรถไฟฟ้าคือ คลื่น 2400 MHz ขึ้นไป ส่วนทีโอทีและดีแทคใช้งานในย่าน 2370- 2400 MHz จะเห็นว่ามีระยะห่าง อยู่ 30 MHz ทางเทคนิคเมื่อดูจากระยะห่างไม่น่าจะมีการรบกวนกัน แต่เมื่อเห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการรบกวน กสทช.จึงแนะนำบีทีเอสย้ายให้ย้ายช่องความถี่สื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480 - 2495 MHz โดยระหว่างการย้ายทีโอทีจะปิดการใช้งานคลื่น 2300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้าไว้ชั่วคราวจนกว่าบีทีเอสจะเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จ"
นายฐากร กล่าวว่า ในช่วง 2 วันนี้ทางทีโอทีจะให้ปิดการใช้งานสถานีฐานตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าไปก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากนัก
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า บีทีเอสจะย้ายช่องความถี่ให้เสร็จภายในกลางดึกวันที่ 29 มิ.ย.หลังจากปิดให้บริการคาดว่าจะใช้งานได้สมบูรณ์ในวันที่ 30 มิ.ย.
"จะย้ายมาใช้คลื่น 2480-2495 MHz การย้ายช่องความถี่ให้ห่าง 15 MHz น่าจะเพียงพอรองรับการให้บริการ เชื่อว่าการเดินรถจะกลับมาตามปกติ ส่วนเรื่องการเยียวยาจะพิจารณากันต่อไป"
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า การปิดการใช้งานคลื่น 2300 MHz ในช่วง 2 วันนี้ก็อาจมีผลกระทบกับผู้ใช้คลื่นดังกล่าว แต่ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงมากนัก