บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ที่ระดับ "BBB+" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระหนี้เงินกู้ยืมที่จะครบกำหนด
อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้การบริหารงานของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "BBB+/Stable" จากทริสเรทติ้ง ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากที่บริษัทถือครอง และโครงข่ายการให้บริการที่ครอบคลุม ในขณะที่อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรู
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทย่อยผู้ดำเนินธุรกิจและสร้างรายได้หลักภายใต้กลุ่มทรู (TRUE Group) โดยในปี 2560 บริษัทสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 75% ของรายได้รวมของกลุ่มทรู
การดำเนินงานของทั้งทรูและบริษัทมีความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ในช่วงปี 2554-2557 ทรูได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บริษัทในรูปของการเพิ่มทุนมูลค่ารวมประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท และในเดือนมิถุนายน 2559 ทรูยังได้เพิ่มทุนอีกจำนวน 6 หมื่นล้านบาทให้แก่บริษัทเพื่อสนับสนุนการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ทซ์และ 900 เมกะเฮิรตซ์อีกด้วย
สถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้แบรนด์ของทรู โดยบริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ "TrueMove H" นอกจากนี้ ร้านค้าของ TRUE ยังได้รวมบริการทั้งหมดของทรูซึ่งได้แก่ "ทรูออนไลน์" (TrueOnline) และ "ทรูวิชั่นส์" (TrueVisions) เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ การสนับสนุนจากทรูช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทและเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ดังนั้น สถานะเครดิตของบริษัทจึงมีความเชื่อมโยงกับสถานะเครดิตของทรูอย่างใกล้ชิด
สถานะทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น
การลงทุนจำนวนมากทั้งในด้านคลื่นความถี่ การขยายโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณ ตลอดจนการทำการตลาดที่ต่อเนื่องส่งผลให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทปรับตัวดีขึ้น จนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 2 ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยเมื่อพิจารณาจากรายได้และจำนวนของผู้ใช้บริการ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 บริษัทมีจำนวนผู้ใช้บริการ 27.6 ล้านเลขหมายซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 31% ของอุตสาหกรรม เทียบกับผู้นำในอุตสาหกรรมซึ่งได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) ที่มีสัดส่วน 45% และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ที่มีสัดส่วน 24%
รายได้ของบริษัทจากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) เติบโตในอัตราที่สูงกว่าอุตสาหกรรม โดยในช่วงปี 2556-2560 รายได้ค่าบริการของบริษัทซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายเติบโตเฉลี่ย 17% ต่อปี เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่อัตรา 4.3% ต่อปี ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2561 บริษัทมีรายได้ค่าบริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจำนวน 1.79 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 27.6% ของส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้ เทียบกับ AIS ที่ 47.8% และ DTAC ที่ 24.6%
รายได้ต่อผู้ใช้บริการยังคงต้องเพิ่มขึ้นต่อไป
ในอีกด้านหนึ่งบริษัทยังคงต้องเพิ่มค่าบริการต่อผู้ใช้งาน (Average Revenue Per User -- ARPU) ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ค่าบริการต่อผู้ใช้งานโดยเฉลี่ยของบริษัททั้งในระบบโทรศัพท์แบบเติมเงินและรายเดือนยังน้อยกว่าคู่แข่ง ทริสเรทติ้งเห็นว่าการเพิ่มค่าบริการต่อผู้ใช้งานจะส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น บริษัทได้ใช้เงินทุนจำนวนมากไปในการเพิ่มความถี่คลื่นโทรศัพท์และขยายโครงข่ายซึ่งเป็นต้นทุนคงที่และควรได้รับการชดเชยด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าบริษัทจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงได้จากมาตรการต่าง ๆ แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทก็ยังคงต่ำกว่าคู่แข่ง บริษัทมีความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่องในขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรยังคงเป็นความท้าทายของบริษัท
รายได้ค่าบริการเติบโตในระดับปานกลาง
รายได้ค่าบริการของบริษัทที่เติบโตขึ้นอย่างมากเป็นผลมาจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นและความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเห็นว่าการเติบโตของรายได้ค่าบริการจะชะลอตัวลงกว่าที่ผ่านมาโดยมีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ จำนวนผู้ใช้บริการของบริษัทได้เพิ่มขึ้นมากในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใช้บริการแบบเติมเงินซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่บริษัทได้ลงทุนไป และเพื่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด อย่างไรก็ดี ผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็นผู้ใช้บริการในกลุ่มเติมเงินที่มีการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากกว่ากลุ่มลูกค้าประเภทรายเดือน
การดำเนินงานของบริษัทมีจะทิศทางที่เปลี่ยนไปเมื่อบริษัทมีฐานลูกค้าในระดับที่ใหญ่มากพอทำให้บริษัทสามารถเน้นเรื่องการทำกำไรได้มากขึ้นกว่าการเพิ่มจำนวนลูกค้า ซึ่งคาดว่าบริษัทจะมีความระมัดระวังมากขึ้นในการเพิ่มส่วนแบ่งผู้ใช้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเติมเงิน อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการทุกรายต่างก็เน้นกลุ่มผู้ใช้บริการรายเดือนที่สร้างรายได้ที่สูงกว่าก็ทำให้การเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการในกลุ่มนี้ยิ่งมีความท้าทายมากขึ้น ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของรายได้ บริษัทจำเป็นจะต้องรักษาฐานกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่พร้อมทั้งพยายามย้ายกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินไปเป็นลูกค้าระบบรายเดือนที่มีอัตราการยกเลิกการใช้งานต่ำกว่าและสร้างรายได้ในอัตราที่สูงกว่าให้ได้มากที่สุด
อีกปัจจัยหนึ่งที่จะสนับสนุนให้รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตคือความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการดังกล่าวมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะนี้การใช้งานโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนอยู่ในระดับสูง และการขยายโครงข่าย 3G (Third Generation) และ 4G ก็ครอบคลุม ทำให้คาดว่าความต้องการใช้งานด้านข้อมูลจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่การเติบโตจะชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้านี้
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับ 8%-9% ต่อปีในช่วงปี 2561-2563 โดยอยู่ที่ระดับ 7.4-8.8 หมื่นล้านบาทต่อปี
ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น
บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดจากการที่มีจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น โดยหากไม่รวมผลกระทบจากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (Digital Telecommunications Infrastructure Fund -- DIF) แล้ว อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจาก 15.9% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 22.5% ในไตรมาสแรกของปี 2561 อัตรากำไรที่ดีขึ้นมาจากการที่บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากความพยายามในการลดต้นทุนการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 19%-22% ต่อปีในช่วงปี 2561-2563
การแข่งขันยังคงเป็นปัจจัยกดดันผลการดำเนินงาน
ความพยายามของบริษัทที่จะทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นอาจได้รับแรงกดดันจากสภาวะการแข่งขันในตลาด อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มลดลง ผู้ประกอบการทุกรายมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการทำกำไร เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไร โดยยให้ความสำคัญกับการควบคุมด้านต้นทุนการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านข้อมูลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการยิ่งมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของการให้บริการในด้านนี้และย้ายลูกค้าที่อยู่ในระบบเติมเงินไปเป็นระบบรายเดือน
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศว่าจะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ในเดือนสิงหาคม 2561 อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนในการปฏิบัติตามแผน และหากมีการจัดประมูลคลื่นความถี่และมีผู้ประมูลได้คลื่น อาจกระตุ้นให้การแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและจะส่งผลกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในที่สุด
นอกจากนี้ ในระยะปานกลางผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมยังจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยี 5G ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนใหญ่อีกครั้งด้วย
การขายสินทรัพย์ให้ กองทุนรวมฯ ลดความกังวลเรื่องภาระค่าใบอนุญาต
บริษัทและทรูได้เสร็จสิ้นธุรกรรมการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัลเป็นครั้งที่ 3 โดยกลุ่มทรูได้รับเงินสดสุทธิจากธุรกรรมดังกล่าวทั้งสิ้น 5.06 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งคาดว่าจะถูกสำรองไว้เพื่อชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ โดยบริษัทมีภาระในการจ่ายชำระค่าใบอนุญาต จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2561 จำนวน 4 พันล้านบาทในปี 2562 และจำนวน 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เงินที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนรวมฯ ในครั้งนี้ช่วยลดความกังวลในเรื่องการจ่ายชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ลงไปได้พอสมควร โดยเฉพาะคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์งวดสุดท้ายที่จะต้องจ่ายชำระในปี 2563
ภาระหนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูง
ภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจากค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนมาก รวมทั้งค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ และภาระผูกพันจากการเช่าดำเนินงาน บริษัทมีการลงทุนก้อนใหญ่ในการขยายโครงข่าย 4G ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งได้รับการยกเว้นการชำระค่าลงทุนจากคู่ค้าเป็นเวลา 2 ปี และจะแบ่งชำระเป็นงวดในระยะเวลา 5 ปีโดยเริ่มในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีภาระด้านค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่ยังคงสูงในระดับ 2.3-2.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2563
เมื่อรวมกับมูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันจากการเช่าดำเนินงานประมาณ 3.3-3.9 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาเดียวกันแล้วคาดว่า บริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 64%-73% ในช่วงปี 2561-2563 และจะมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดต่อ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 8 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่ตึงตัวแต่สามารถบริหารจัดการได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาทซึ่งจะทดแทนด้วยการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอีกประมาณ 3.7-4.2 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมค่าใบอนุญาตที่จะครบกำหนดชำระด้วย แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทรวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ เดือนมีนาคม 2561 อีกประมาณ 7.2 พันล้านบาท บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ในขณะที่เงินที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์ให้แก่ กองทุนรวมฯ ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งจะถูกสำรองไว้เพื่อใช้ชำระค่าใบอนุญาตในปี 2563 นั้นบริษัทก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทได้หากมีความจำเป็น
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในตลาดและสามารถสร้างรายได้จากเงินที่ลงทุนไปโดยไม่ทำให้สถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง อีกทั้งจะยังคงสถานะในการเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรูต่อไป นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะเกิดกับอันดับเครดิตของทรูก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบัน ในขณะที่ความเสี่ยงที่บริษัทจะได้รับการปรับลดอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้เป็นอย่างมาก
ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีต เช่น ค่าธรรมเนียมเพื่อใช้โครงข่าย (Access Charge) หรือการประเมินภาษีสรรพสามิต และอื่น ๆ ยังคงดำรงอยู่และจะยังไม่มีผลสิ้นสุดในเร็ววันนี้ โอกาสที่จะเห็นผลสิ้นสุดทางกฎหมายของข้อพิพาทที่ออกมาในทางลบในระยะใกล้ก็ยังมีต่ำ โดยที่อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท