นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ในรอบ 8 เดือนของปี 60/61 (ต.ค. 60- พ.ค.61) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่งของทอท. จำนวน 95,536,222 คน เพิ่มขึ้น 9.88% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 55,021,195 คน โต 14.03% และผู้โดยสารภายในประเทศ 40,515,027 คน เพิ่มขึ้น 4.71% โดยผู้โดยสารต่างประเทศที่มาใช้บริการมากที่สุด 5 อันดับแรก (ไม่รวมสัญชาติไทย) ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และรัสเซีย
ส่วนเที่ยวบินมีจำนวน 585,423 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 6.17% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 309,218 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.63% และเที่ยวบินภายในประเทศ 276,205 เที่ยวบิน ลดลง 0.24%. และมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ จำนวน 1,100,980 ตัน เพิ่มขึ้น 5.77%
นายนิตินัย คงคาดการณ์ประมาณการจำนวนผู้โดยสารในงวดปี 61 (ต.ค.60-ก.ย.61) จะมีอัตราเติบโต 9-10% จากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสาร 126 ล้านคน
ขณะเดียวกันท่าอาศยานสุวรรณภูมิอยู่ในช่วงการลงทุนขยายการรองรับผู้โดยสารที่ใช้งบลงทุนราว1.3 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนราว 6.7 หมื่นล้านบาท ที่จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันรองรับ 45 ล้านคน/ปี เปิดใช้บริการในปี 63
และในปี 64 จะเปิดใช้รันเวย์3 ซึ่งจะสามารถเพิ่มเที่ยวบินเป็น 92 เที่ยวบิน/ชม.จากปัจจุบันรองรับได้ 68 เที่ยวบิน/ชม.ที่ใช้วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ และการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และ อาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 วงเงินลงทุน 4.1 หมื่นล้านบาทซึ่งรองรับผู้โดยสารได้อกี 30 ล้านคน/ปี จะเปิดให้บิรการในปี 65 ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคน/ปี
ขณะเดียวกัน ทอท.คาดว่าจะออก TOR ประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเดือน ก.ค.- ส.ค. ซึ่งระหว่างนี้กำลังรวบรวมข้อมูลที่มีความคิดเห็นหลากหลาย เพื่อนำไปปรับปรุง TOR คาดว่าจะสามารถดำเนินการประมูลแล้วเสร็จภายในปี 61
สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศดอนเมืองจะมีการดำเนินการโครงการเร่งด่วน คือ เตรียมก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ เพื่อใช้เป็นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเป็นกลุ่มในเส้นทางระหว่างประเทศ เพื่อลดความหนาแน่นของผู้โดยสารในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นอาคาร 2 ชั้น แบ่งเป็น ชั้น 1 สำหรับจอดรถบัส และชั้น 2 สำหรับเป็นพื้นที่พักคอยผู้โดยสารที่เดินทางเป็นกลุ่มในเส้นทางระหว่างประเทศ โดยจะดำเนินการก่อสร้างบริเวณลานจอดรถบัส ระหว่างอาคารสำนักงาน ทดม.และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อลดความแออัด บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสาร โดยจะใช้งบเร่งด่วนปี 2561 และคาดว่าจะให้เสร็จในอีก 6 - 8 เดือนข้างหน้า
นายนิตินัย กล่าวว่า บริษัทเห็นโอกาสการเติบโตของงานด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้)ในช่วง 2-3 ปีนี้เติบโตปีละ 10% ปัจจุบันพื้นที่คาร์โก้ทั้ง 6 ท่าอากาศยานเรวม 3.6 ล้านตัน ซึ่งยังมีพื้นที่รองรับได้อีก ยกเว้นคาร์โก้ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ใช้เต็มกำลังแล้วที่ 1.4 ล้านตัน
"ทอท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานในด้านพัฒนาธุรกิจ โดย ทอท.อยู่ระหว่างการศึกษาหาแนวทางการพัฒนาแบบธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ ทอท.ที่ขณะนี้ผลการดำเนินงานด้านการให้บริการการขนส่งสินค้าทางอากาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ ทอท.เข้าดำเนินการเอง เช่นเดียวกับการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ ท่าอากาศยานภูเก็ตที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น"
ดังนั้น ทอท.จึงจะมีการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของ ทอท.ในด้านนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้าน Logistic ของรัฐ
ทั้งนี้ การดำเนินการด้านหนึ่งของ ทอท.ในขณะนี้ คือ การจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทางให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร โดยการใช้ประโยชน์เขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในการรวบรวม คัดแยกและกระจายสินค้าในกลุ่มภูมิภาค และเพิ่มความมั่นใจในการส่งออก รวมทั้งลดปัญหาจากการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง
โดย ทอท.ได้ศึกษาข้อมูลกับบริษัท Liege Airport S.A.ผู้บริหารท่าอากาศยาน Liege Airport ราชอาณาจักรเบลเยียมผ่านความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement : SAA) ซึ่งท่าอากาศยาน Liege Airport เป็นเป็นท่าอากาศยานที่มุ่งเน้นการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นหลัก และเป็นท่าอากาศยานที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอันดับ 8 ของทวีปยุโรป
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนประมาณ 20-30 ราย และเป็นรายใหญ่ราว 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เสนอลงทุนกิจการคาร์โก้ที่จะใช้พื้นที่ 200-300 ไร่ คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มคัดเลือกเอกชน ส่วนจะให้ใช้ที่ดินส่วนไหนขึ้นนอยู่กับกิจกรรมพาณิชย์ที่เสนอเข้ามา รวมทั้งระยะเวลาที่ให้เช่าด้วย หรือหากบริษัทเห็นโอกาสทางธุรกิจก็อาจจะเข้าร่วมทุนด้วย
สำหรับการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศ เบื้องต้น ทอท.ได้เสนอขอเข้าบริหารท่าอากาศยาน ของกรมท่าอากาศยาน(ทย.) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก ทั้งนี้ ทอท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาศักยภาพการบริหารงานท่าอากาศยานของ ทอท.เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนการเพิ่มศักยภาพการบริหารงานท่าอากาศยานของ ทอท. และกำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของ ทอท.ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป
นายนิตินัย กล่าวว่า หลังจาก ครม.อนุมัติแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญ จากนั้นจะเข้าไปตรวจสอบสถานะ (Due Diligent) และทำแผนบริหารให้เสร็จภายในปีนี้ และคาดว่าจะเข้าบริหารท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่งในไตรมาส 2-3 ในปี 62 โดยในเบื้องต้นคาดว่าท่าอากาศยานอุดรธานีจะใช้เงินลงทุนราว 1.5 พันล้านบาทในการปรับปรุงสนามบินให้ได้ตามเกณฑ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) เพื่อให้ได้มาตรฐาน และสามารถทำการบินไปยังยุโรปได้ ส่วนท่าอากาศยานอื่นคาดใช้งบปรับปรุงไม่เกิน 100 ล้านบาท
ทอท.เตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาแผนแม่บทกิจการขนส่งทางอากาศทั้ง 6 ท่าอากาศยาน และการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในเดือนส.ค.นี้ โดยรูปแบบการร่วมทุน ที่ AOT คาดว่าจะถือหุ้น 49% และเอกชน ถือหุ้นสัดส่วน 51% แต่เป็นหุ้นสามัญ 45% และหุ้นบุริมสิทธิ์ 6% ซึ่งจะออกเสียงได้ น้อยกว่าหุ้นสามัญ รวมแล้วจะมีสิทธิออกเสียงได้ไม่เกิน 46%
โดยในเดือน ก.ค.จะสำรวจความต้องการใช้จากประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และสรุปข้อมูลในเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นคาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทได้ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งทาง AOT จะใช้ที่ดินที่มีอยู่ทั้งภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแปลง 37 ที่มีพื้นที่ประมาณ 700 ไร่เป็นพื้นที่เช่าของกรมธนารักษ์ และที่ดินเปล่าใกล้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 723ไร่ เป็นเจ้าของที่ดินเอง และใบอนุญาตการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก ซึ่งคณะกรรมการเพิ่งอนุมัติจัดตั้งบริษัทลูกให้ดำเนินกิจการดังกล่าวเมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายใดมีศูนย์ตรวจสอบดังกล่าว