นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. จัดงานสัมมนาเรื่องหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) และการวัดผลการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อส่งเสริมให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำ I Code ไปปรับใช้เพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อสมาชิกกองทุน รวมทั้งส่งเสริมให้ PVD ใช้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมในการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน
PVD มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนระยะยาว เพื่อให้สมาชิก PVD มีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ส่งเสริมให้ PVD ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน พิจารณานำ I Code ไปปรับใช้ในการบริหารเงินของสมาชิก PVD โดย I Code เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในการลงทุนโดยเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน ควบคู่กับการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกิจการที่ไปลงทุน ซึ่งในปัจจุบัน PVD โดยรวมมีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 1 ล้านล้านบาทนับเป็นแรงผลักดันในตลาดทุน (market force) ที่สำคัญในการดูแลตลาดทุน และ PVD ขนาดใหญ่ 5 แห่ง รวมทั้ง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม ได้ประกาศรับที่จะนำ I Code ไปปรับใช้แล้ว และ ก.ล.ต. และสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะดำเนินการเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้กองทุนต่าง ๆ เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นอีกตามลำดับ
ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้ PVD มีการออมเต็มพิกัด 15% และมีการจัดแผนการลงทุนที่เหมาะสม และยังส่งเสริมให้ PVD มีการใช้ตัวชี้วัดผลการลงทุนของกองทุนที่เหมาะสม เพื่อให้การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนมีประสิทธิภาพ โดยในการวัดผลการลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นพบว่า PVD นำดัชนีราคาหุ้น (SET Index) มาใช้เป็นตัวชี้วัด อย่างไรก็ดี การใช้ SET Index อาจไม่ใช่การเปรียบเทียบที่เหมาะสม เนื่องจาก SET Index มิได้มีการนำรายได้จากเงินปันผลมารวมคำนวณไว้ด้วย ในขณะที่การคำนวณผลการลงทุน ของกองทุนหุ้นจะนำเงินปันผลมารวมคำนวณไว้ด้วยเสมอ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงส่งเสริมให้ PVD ใช้ดัชนีชี้วัดผลตอบแทนรวม (SET TRI) ซึ่งรวมรายได้จากเงินปันผลในการคำนวณ มาใช้ในการประเมินผลงานแทนกองทุน เนื่องจากมีความเหมาะสมและเที่ยงตรงมากกว่า
นายรพี กล่าวว่า PVD มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาคนไทยมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมของไทย ก.ล.ต. ต้องการส่งเสริมให้ PVD มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันจากทุกภาคส่วน ทั้งจากสมาชิก PVD ที่เป็นลูกจ้างในบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องมีวินัยในการออมและต้องรู้จักลงทุนให้เงินของตนงอกเงย และจากผู้ที่เป็นกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อที่จะทำให้ PVD เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สมาชิก PVD สามารถบรรลุเป้าหมายให้มีเงินพอใช้ในระยะยาวได้