โบรกเกอร์ให้คำแนะนำ"ซื้อ"หรือ"เก็งกำไร"หุ้น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จากราคาหุ้นปรับตัวลงไปมาก โดยประเมินมูลค่าด้วย EV/EBITDA ขณะนี้มีไม่ถึง 4 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 5.8 เท่า และการได้คลื่น 2300MHz ทำให้บริษัทสามารถย้ายลูกค้า 4G มาได้ ขณะเดียวกัน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าเช่าคลื่นที่เริ่มบันทึกในไตรมาส 2/61 ก็จะกดดันกำไรในไตรมาส 2/61
ส่วนการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ ทั้งคลื่น 1800MHz และ 900 MHz ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่โดย 1800MHz แบ่งเป็นจำนวน 9 ใบ ใบละ 5MHz และ 900MHz 1 ใบ 5MHz
โบรกเกอร์บางรายคาด DTAC อาจจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900MHz เท่านั้น เพราะเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่สามารถช่วยครอบคลุมได้ไกล และบางรายก็คาดว่า DTAC อาจจะเข้าประมูลคลื่น 1800MHz จำนวน 10MHz และ คลื่น 900MHz ไม่ว่าจะอย่างไรหาก DTAC ประมูลคลื่นได่จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะราคาประมูลสูง ทำให้มีการปรับปรุงประมาณการกำไรในปีนี้ใหม่
บ่ายวันนี้ ราคาหุ้น DTAC อยู่ที่ 37.25 บาท บวก 1.25 บาท (+3.47%) สวนทางดัขนี SET ติดลบ 0.80%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) บัวหลวง ซื้อ 82.00 กรุงศรี ซื้อ 58.00 ดีบีเอสฯ ซื้อ 53.50 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ซื้อ 50.00 เคจีไอ Outperform 49.00 ฟินันเซียไซรัส เก็งกำไร กำลังทบทวน หยวนต้า เก็งกำไร 47.00
นายประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ราคาหุ้น DTAC ปรับตัวลงมาก ทำให้ Valuation ถูก และกำไรน่าจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นหลังจากปริษัทพยายามลดต้นทุน โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 82 บาท ด้วย EV/EBITDA ขณะนี้มีไม่ถึง 4 เท่าจากเดิมอยู่ที่ 5.8 เท่า
อย่างไรก็ตาม งบการเงินไตรมาส 2/61 ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะเริ่มบันทึกค่าใช้จ่ายจากการเช่าใช้คลื่น 2300MHz กับ บมจ.ทีโอที เริ่มตั้งแต่ 24 เม.ย.61 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณวันละ 12 ล้านบาท หรือ จะบันทึกราว 800 ล้านบาทในไตรมาส 2/61 โดยค่าใช้จ่ายปีละ 4,500 ล้านบาท
ส่วนในไตรมาส 3 มีค่าตัดจำหน่ายของสัญญาสัมปทาน 1800MHz และ 850MHz ไม่เต็มไตรมาส เพราะสัญญาสิ้นสุด 15 ก.ย.61 และไตรมาส 4 จะไม่มีค่าตัดจำหน่ายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 1800MHz และ 850MHz รวมเป็นเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรของ DTAC ในปีนี้ปรับตัวลดลงมา 1,574 ล้านบาท ลดลง 26% จากปีก่อน แต่ปี 62 คาดกำไรจะเพิ่มเป็น 2,773 ล้านบท ปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 76% เพราะไม่มีค่าตัดจำหน่ายราคาของสัญญาสัมปทานเต็มปี
นายประสิทธิ์ ประเมินว่า จากการที่ DTAC ได้คลื่น 2300MHz ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการที่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ อย่างไรก็ตาม ในการเปิดประมูลคลื่นรอบใหม่ หลังจาก กสทช.ได้ประกาศเกณฑ์ประมูลใหม่ทั้งใบอนุญาตคลื่น 1800MHz ที่ปรับเป็นใบอนุญาตละ 5 MHz จากเดิม 15 MHz แต่ราคาตั้งต้นยังสูง ดังน้น DTAC อาจจะไม่เข้าประมูล
ส่วนคลื่น 900MHz ที่นำออกประมูล 1 ใบอนุญาต จำนวน 5 MHz คาดว่า DTAC จะเข้าร่วม โดยมองว่า DTAC อาจจะมีต้นทุนสูงจากการประมูลคลื่น และยังมีข้อสงสัยว่าจะใช้ประสิทธิภาพของคลื่นได้เต็มที่หรือไม่ เพราะคลื่น 900MHz ได้ถูกแบ่งไปใช้ในกิจการการเดินรถไฟความเร็วสูง หากได้มาแล้วก็ต้องติดตั้งอุปกรณ์การป้องกันคลื่นรบกวน ซึ่งอาจเสียไปประมาณ 2 MHz ในขณะที่อายุใบอนุญาต 15 ปี ทำให้ DTAC มีต้นุทนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มา
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำเข้าเก็งกำไรหุ้น DTAC เพราะราคาหุ้นปรับตัวลงไปมากหลังจากสะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว และตอบรับเชิงบวกหลังจากที่บริษัทไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800MHz ในรอบแรก
อย่างไรก็ดี หาก DTAC ต้องการได้คลื่น 900 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่ช่วยครอบคลุมโครงข่ายได้กว้างมาก แต่รอบนี้จะประมูลคลื่น 900 MHz ได้เพียง 5MHz ถือว่าราคาประมูลค่อนข้างสูง อาจส่งผลต่อกำไรหดตัวในปีนี้และปีหน้า แต่การมีคลื่น 900MHz ช่วยลดความเสี่ยงลง แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการขึ้นได้มากนัก
นอกจากนี้ คาดว่า DTAC จะมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเช่าอุปกรณ์จาก บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยประเมินราคาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยคิดเทียบกับกรณี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)ที่จ่ายค่าเช่าอุปกรณ์กับ บมจ.ทีโอที ในราคาใกล้เคียง 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากสัญญาสัมปทานเปลี่ยนมาเป็นจ่ายค่าใบอนุญาต มีต้นทุน 4% จากเดิม 10% ก็ช่วยลดต้นทุนด้านี้ได้มาก
ทั้งนี้ จะมีการทบทวนประมาณการกำไรในปี 61-62 หลังจากมีปัจจัยเรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz โดยมีแนวโน้มปรับลงจากเดิมที่คาดว่าในปีนี้จะมีกำไรสุทธิ 2.5 พันล้านบาท
ขณะที่ บล.หยวนต้า ปรับลดคำแนะนำหุ้น DTAC เป็น "T-BUY"เพราะคาดกำไรปกติในไตรมาส 2/61 ที่ 176 ล้านบาท (-79% QoQ, -76%YoY) อ่อนตัวจากการเริ่มบันทึกค่าเช่าคลื่น 2300MHz เป็นไตรมาสแรก และค่าใช้จ่ายเปิดตัวคลื่น 2300MHz และคาดตลาดให้น้ำหนักกับการเข้าประมูลคลื่นมากกว่าผลประกอบการที่อ่อนแอ แต่ความไม่แน่นอนยังสูง
หาก DTAC ชนะประมูลคลื่น 1800MHz จำนวน 10MHz และ 900MHz จำนวน 5MHz เราประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 47 บาทต่อหุ้น แต่หาก DTAC ไม่ชนะการประมูล เรามองเป็นลบ กดดันราคาหุ้น และแนะนำหลีกเลี่ยงในกรณีนี้ จากกฏเกณฑ์ remedy (การเยียวยา) ที่อาจไม่มี และแนวโน้มการสูญเสียลูกค้าที่สูงกว่าคาด เราแนะนำจับตาร่าง IM วันที่ 5 ก.ค.และวันเปิดยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลในวันที่ 8 ส.ค.
ทั้งนี้ กสทช. เปิดประมูลคลื่นรอบใหม่แบ่งเป็น 1800MHz จำนวน 9 ใบ ใบละ 5MHz และ 900MHz 1 ใบ 5MHz หาก DTAC ชนะการประมูล เรามองเป็นโอกาสรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเราคาด DTAC เลือกคลื่น 900MHz เป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากช่วยรักษา coverage และลดต้นทุนการลงทุน แต่คู่แข่งอย่าง ADVANC ก็สนใจเช่นเดียวกัน โดยหากภาครัฐยอมให้ใช้คลื่นติดกัน 5MHz เป็นของแถมอีกสองปี เราเชื่อว่าการแข่งขันราคาในคลื่นนี้อาจรุนแรง และเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
นอกจากนี้ เราคาดว่า DTAC สนใจคลื่น 1800MHz เช่นกัน เพื่อปกป้องช่วงเปลี่ยนถ่ายบริการและเพิ่มโอกาสการได้ remedy period สำหรับ slot ที่ไม่ได้ถูกประมูล ปัจจุบัน DTAC ทำ 4G บนคลื่น 1800MHz (คลื่นที่จะหมดสัมปทาน) อยู่ราว 7 พันสถานีฐาน ภายใต้ capacity 20MHz และ 5MHz บนคลื่น 2100MHz ขณะที่คลื่น 2300MHz DTAC ตั้งเป้าสถานีฐานครบ 7 พันสถานีฐานภายในสิ้นปี 2561
ดังนั้น หาก DTAC ไม่สามารถติดตั้งสถานีฐานได้เร็วเพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพ อาจเกิดผลกระทบต่อคุณภาพบริการ 4G นอกจากนี้ ปัจจุบัน มือถือในตลาดทั้งหมดรองรับคลื่น 2300MHz ราว 30-40% ดังนั้นแม้ DTAC จะเร่งย้ายลูกค้า 4G ให้ใช้เครื่องที่รองรับ 2300MHz ไปกว่า 70% เรามองว่าเป็นเพียงการรักษาตลาดเดิม การเติบโตรายได้ภายใต้ข้อจำกัดเครื่องมือถือไม่ใช่เรื่องง่าย