กสทช.ร่วม กทม.-BTS-TOT-DTAC ตรวจเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสหลังเปลี่ยนอุปกรณ์-ย้ายคลื่นเช้าวันจันทร์นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 29, 2018 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 2 ก.ค.61 เวลา 05.50 น. สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ กทม. บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้เดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.บีทีเอส โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป (BTS) บมจ.ทีโอที (TOT) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ร่วมตรวจการให้บริการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ว่า สามารถให้บริการประชาชนที่จะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าวันจันทร์นี้ได้เป็นปกติหรือไม่

ภายหลังจากที่รถไฟฟ้าบีทีเอสได้แก้ไขปัญหาระบบรถไฟฟ้าขัดข้อง ตามแนวทางที่ได้จากการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระหว่างสำนักงาน กสทช. BTS TOT และ DTAC ด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้า บีทีเอสที่จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันนี้ (29 มิ.ย. 61) รวมถึงการที่ TOT และ DTAC ให้ความร่วมมือปิดเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ 2300 MHz สถานีที่อยู่ตามแนวทางเดินรถไฟฟ้า และ BTS ได้ขยับช่องสัญญาณความถี่จากเดิมไปใช้ช่วงความถี่ 2480-2495 MHz ให้ห่างจากคลื่นความถี่ 2300 MHz ของ TOT แล้ว

การตรวจสอบจะแบ่งเป็น 2 ช่องทาง คือ ช่องทางแรก ตรวจสอบการให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว โดยเริ่มออกจากสำนักงาน กสทช. เวลา 05.50 น. แล้วเริ่มใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีอารีย์ ในเวลา 06.00 น. ไปยังสถานีสยาม แล้วไปสิ้นสุดที่สถานีพร้อมพงษ์ ขากลับเริ่มจากสถานี พร้อมพงษ์ สิ้นสุดที่สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ช่องทางที่ 2 สำนักงาน กสทช. จะส่งรถตรวจสอบสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของสำนักงานฯ ออกวิ่งตรวจสอบตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว คู่ขนานกันไป โดยรถตรวจสอบฯ จะออกจากสำนักงาน กสทช. ในเวลา 05.50 น.

การตรวจสอบนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสให้กับประชาชน และเป็นการยืนยันว่า หลังจาก BTS ได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ และย้ายตำแหน่งการใช้งานคลื่นความถี่ของระบบอาณัติสัญญาณจากเดิม มาเป็น 2480-2495 MHz ไปชิดกับคลื่นความถี่ 2500 MHz ห่างจากคลื่นความถี่ 2300 MHz ของ TOT ตามคำแนะนำของสำนักงาน กสทช. แล้ว มันจะมีการรบกวนเกิดขึ้นอีกไหม ซึ่งการดำเนินการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว การให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว จะสามารถให้บริการได้ตามปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ