นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 60 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปแล้วกว่า 2.2 แสนล้านบาท นับเป็นปริมาณการขายที่สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในเดือน ม.ค. ประมาณ 11% ถือว่าลงน้อยกว่ารอบอื่น ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติมีการขายในปริมาณใกล้เคียงกัน เช่น ในช่วงที่ตลาดกังวลต่อการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปี 2556 ที่นักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นไทยไปรวม 2.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปถึง 25%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินว่าสาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยสามารถทนต่อแรงขายจากต่างชาติได้มากกว่าในอดีตนั้น เป็นผลมาสองปัจจัย คือ ประการแรกดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และประการที่สองเศรษฐกิจไทยเติบโตและขยายตัวดีขึ้น โดยดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2558 ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ช่วยชดเชยสภาพคล่องในประเทศและบรรเทาผลกระทบจากเงินทุนไหลออกได้ ขณะที่เศษฐกิจไทยยังเริ่มกลับมาขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น เสริมการบริโภคในประเทศและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี
"แม้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะมีแนวโน้มลดลงบ้างตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่ก็น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป ขณะที่รายงานดุลการค้าของกระทรวงพาณิชย์เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เห็นตัวเลขพลิกกลับมาเกินดุล 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ขาดดุลในเดือนก่อนหน้า น่าจะยืนยันถึงแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้น ในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็ยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก ในส่วนเศษฐกิจไทยเริ่มกลับมาขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น โดยดัชนีรายได้เกษตรกรได้กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ค.60 น่าจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้าโลก"นายคมศร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าหลังจากนี้เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยที่ยังดีและโดดเด่นกว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ รวมถึงการเติบโตของการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มสดใสขึ้น น่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอการขายหุ้นไทย และน่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเริ่มยืนได้ในช่วงนี้