โบรกเกอร์เชียร์"ซื้อ"หุ้นบมจ.บ้านปู (BANPU) จากราคาถ่านหินที่ปรับขึ้นมายืนอยู่ในระดับสูงอย่างแข็งแกร่งจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น บวกกับปริมาณขายถ่านหินที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ายังส่งผลดีต่อรายรับที่เป็นดอลลาร์สหรัฐด้วย ส่วนธุรกิจไฟฟ้า ยังคงเติบโตได้ดีตามปกติ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าหงสาในลาวที่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานดีขึ้น และยังจะรับรู้ผลการดำเนินงานโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นเพิ่มอีก 45 เมกะวัตต์ (MW) ในปีนี้ก็จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานทั้งปีให้เติบโตก้าวกระโดด หลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 1/61 จากการบันทึกสำรองคดีหงสา
อย่างไรก็ตาม จากทิศทาง Fund Flow ที่ไหลออกต่อเนื่องในช่วงนี้ อาจจะยังกดดันต่อราคาหุ้น BANPU ไม่ให้ขยับขึ้นได้มากนักเมื่อเทียบกับพื้นฐานที่แข็งแกร่ง นักลงทุนอาจต้องรอจังหวะการเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลงมา แต่โบรกเกอร์ยังคงเลือก BANPU เป็นหนึ่งในหุ้นเด่นของกลุ่มพลังงาน โดยเชื่อว่าราคาหุ้นจะ Outperform SET จากกำไรที่คาดว่าจะโดดเด่นตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป
ราคาหุ้น BANPU ปิดช่วงเช้าอยู่ที่ 19.80 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ 1% สวนทางดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.25%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) เอเซีย พลัส ซื้อ 25.60 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 26.00 หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 32.00 ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ซื้อ 26.50 ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซื้อ 27.00 เอเอสแอล ซื้อ 25.00 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 27.00
นางวชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ BANPU ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ดี โดยประเมินว่าปีนี้กำไรปกติ/หุ้น (EPS) จะอยู่ที่ระดับ 2.73 บาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.17 บาทในปีก่อน จากราคาถ่านหินเพิ่มขึ้น
สำหรับราคาถ่านดินของเหมืองอินโดนีเซียคาดว่าจะอยู่ที่ 84 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 79 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีก่อน ประกอบกับปริมาณการขายถ่านหินสูงขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ไม่มาก เพราะเผชิญปัญหาปริมาณฝนที่มาก ผนวกกับธุรกิจไฟฟ้ายังเติบโตได้ดีจากโรงไฟฟ้าหงสาที่เดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ายังส่งผลดีต่อรายได้ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐของ BANPU ซึ่งจะแปลงกลับมาเป็นบาทได้มากขึ้น ขณะที่ประเด็นสงครามทางการค้าของโลก ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาถ่านหิน แต่กลับจะมีส่วนที่เอื้อต่อราคาถ่านหินจากการที่ shale gas จากสหรัฐฯอาจจะถูกตัดเส้นทางการแข่งขัน ทำให้เกิดการใช้ถ่านหินมากขึ้นเพราะยังจำเป็นต่อการผลิตไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น BANPU ไม่ได้ขยับขึ้นมากนักในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เนื่องจากนักลงทุนยังระมัดระวังเรื่องของเงินทุนไหลออก ซึ่งนักลงทุนสามารถรอจังหวะการเข้าซื้อเมื่ออ่อนตัวได้
"ภาพใหญ่ของตลาดกังวลเรื่องสงครามการค้า เรื่องของ Flow เป็นหลัก สำหรับ BANPU ถ้าถือยาวระยะหนึ่งก็ทยอยเข้าซื้อได้ BANPU ไม่น่ากังวลอะไร"นางวชิราลักษณ์ กล่าว
นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ราคาถ่านหินอ้างอิงดัชนี Barlow Jonker Index (BJI) สัปดาห์ล่าสุดลดลง 2.1 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 116.21 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก และยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มถ่านหินในปีนี้ ซึ่งรวมถึง BANPU
ขณะที่ภาพระยะยาวของตลาดถ่านหินคาดว่าจะยังมีความต้องการที่ดีจากการที่เป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำสุดในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ยังคงมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาว แม้ว่าหลายประเทศจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างจีนที่มีนโยบายลดการใช้ถ่านหินในระยะยาว แต่นโยบายส่วนใหญ่ของจีนที่มีความร้อนแรงในช่วงแรกก็มักจะมีมาตรการผ่อนคลายตามมาในภายหลัง ทำให้คาดว่าแนวโน้มราคาถ่านหินจะยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่เป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ระบุว่า ยังคงเลือกหุ้น BANPU ไว้เป็นหนึ่งในหุ้นเด่นในกลุ่มพลังงาน จากคาดว่าราคาหุ้น BANPU จะ Outperform SET หลังกำไรในไตรมาส 2/61 น่าจะสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 55 โดยประเมินว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 4.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% จากงวดปีก่อน และพลิกเป็นกำไรจากขาดทุน 1.26 พันล้านบาทในไตรมาส 1/61 จากการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษ 2.5 พันล้านบาทจากคดีหงสาเหมือนในไตรมาสแรก ,กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเป็น 788 ล้านบาท จากที่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 พันล้านบาทในไตรมาสแรก เป็นผลมาจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 1.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
แต่หากไม่รวมรายการพิเศษ คาดว่ากำไรจากธุรกิจหลักก่อนภาษี จะเพิ่มขึ้น 53% จากไตรมาสก่อนเป็น 6.9 พันล้านบาทเนื่องจากปริมาณการผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้น ,ต้นทุนการผลิตถ่านหินในออสเตรเลียลดลงเนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ของเหมืองใต้ดินได้เร็วขึ้น และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปริมาณการผลิตถ่านหินรวมจะเพิ่มขึ้นถึง 25% เป็น 8.6 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกในอินโดนีเซียลดลง และจำนวนวันที่ใช้ในการย้าย Longwall ที่ออสเตรเลียลดลง โดยคาดว่าราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของ BANPU จะทรงตัวเมื่อเทียบต่อไตรมาส มาอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/ตันในไตรมาส 2/61
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาถ่านหินมีโอกาสอ่อนตัวในระยะสั้นจากผลกระทบของช่วงโลว์ซีซั่น ของความต้องการใช้ถ่านหินในช่วงไตรมาส 3/61 แต่จะกลับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 61 จากผลกระทบของปริมาณการใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีนในช่วงฤดูหนาว โดยมองราคาเฉลี่ยถ่านหินทั้งปี 61 ของ BANPU ไว้ที่ 80 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน อีกทั้งคาดปริมาณผลิตถ่านหินทั้งปีนี้จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นราว 11% จากปีก่อน มาจากเหมืองในประเทศอินโดนีเซียเป็นหลักบนสมมติฐานของการไม่มีพายุเข้าและฝนตกหนักเท่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนกำไรจากธุรกิจไฟฟ้าจะยังคงเติบโตได้ดีจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกราว 45 เมกะวัตต์ และเติบโตต่อเนื่องไปอีกในปี 62 จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินซานซีลู่กวงเฟส 1 (SLG 1) ขนาดกำลังการผลิต 198 เมกะวัตต์ในจีน นอกจากนี้ทางฝ่ายมองการรับรู้รายได้จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติเต็มปีจะสนับสนุนการเติบโตของกำไรโดยรวมของ BANPU ด้วย
ฟิลลิปฯ ปรับประมาณการกำไรปี 61 ของ BANPU เพิ่มขึ้น 9% หลังราคาถ่านหินเฉลี่ยออกมาสูงกว่าคาดที่ 75 เหรียญสหรัฐ/ตัน และโรงไฟฟ้าหงสาที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าคาด โดยมองกำไรรวมปกติทั้งปี 61 อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 15% จากปีที่แล้ว