บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ลงนามความร่วมมือกับ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ในโครงการ CPF Solar Rooftop ในรูปแบบสัญญาขายไฟฟ้าที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,400 ล้านบาท โดย GUNKUL จะเป็นผู้ลงทุนและดูแลระบบตลอดอายุสัญญาระยะเวลา 15 ปี โดยจะทำการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมด 120,000 แผ่น บนหลังคาของโรงงานซีพีเอฟจำนวน 34 แห่ง ครอบคลุมโรงงานอาหารสัตว์บก โรงงานอาหารสัตว์น้ำ โรงงานแปรรูปอาหาร และโรงงานอาหารสำเร็จรูป รวมเป็นพื้นที่ราว 230,000 ตารางเมตร หรือเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ถึง 53 ล้านหน่วยต่อปี นับเป็นโครงการ Solar Rooftop ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ และสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าขององค์กรได้อีกด้วย
นายอนุรัตน์ สุธรรมนิรันด์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร CPF กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เฟส 2 โดยคาดว่าจะติดตั้งไม่น้อยกว่าเฟสแรก หรือ 40 เมกะวัตต์ในปี 62 โดยจะสำรวจความพร้อมหลังคาโรงงานของบริษัททั่วประเทศและติดตั้งและจะดำเนินการต่อเนื่องภายในปี 63 รวมแล้วจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่โรงงานของ CPF ใช้ทั้งหมดประมาณ 200 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ CPF ยังได้ให้ GUNKUL สำรวจและการติดตั้งโรงงานหลังคาอุตสาหกรรมในบริษัทย่อยที่อยู่ในกลุ่ม CLMV โดยจะนำร่องที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งขณะนี้ต้องพิจารณานโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนหรือไม่ คาดว่าจะดำเนินการได้ในต้นปี 62 ถึงกลางปี 62
ส่วน CPF Solar Rooftop จำนวน 40 MW คาดว่าจะติดตั้งเสร็จในปลายปี 61 หรือต้นปี 62 หรือใช้เวลา 5-7 เดือน ซึ่งจะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานจะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานของบริษัทได้ราว 2% และยังทำให้โครงการฉลาก Carbon Footprint และโครงการฉลากลด Carbon Footprint ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย จะยิ่งทำให้สินค้าส่งออกของ CPF ได้รับการยอมรับ และช่วยให้การส่งออกได้ง่ายขึ้น ที่บางประเทศมีการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
"เราใช้พลังงานทดแทน ทำมากกว่า 10 ปี ใช้พลังงานความร้อนร่วม ใช้ไบโอแก๊ส ไบโอฟลูเอล และครั้งนี้มาติดตั้ง Solar Rooftop จะช่วยให้เราประหยัดค่าพลังงาน และยังช่วยเรื่อง Carbon Footprint เรามีโรงงานอยู่ทั่วประเทศ เป็นเรื่องภาพพจน์ ในโรงงานปรรูปไก่ ที่กรุงเทพ สระบุรี นครราชสีมา , โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ที่สระบุรี นครราชสีมา รวมถึงฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ก็ต้องไปดูว่าหลังคามีความพร้อมติดตั้งหรือไม่ เพราะเราคาดว่าจะสำรวจและติดตั้งให้เสร็จใน 2 ปีนี้"นายอนุรัตน์ กล่าว
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร GUNKUL คาดผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังปี 61 จะดีกว่าครึ่งแรกปี 61 จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีโซลาร์บนหลังคาของโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 50 เมกะวัตต์ ส่วนครึ่งปีหลังจะมีกำลังการผลิตจากโซลาร์บนหลังคาของโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 70 เมกะวัตต์ ทำให้สิ้นปี 61 จะมีกำลังผลิตเป็น 583 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 60 มีกำลังผลิต 513 เมกะวัตต์ และไม่มีการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาของโรงงานอุตสาหกรรม GUNKUL ยังมีลูกค้าในกลุ่มโรงพยาบาล ที่จอดรถ รวมถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์