บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ที่ระดับ "A" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้นำของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมทั้งฐานรายได้ประจำจากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและกำไรจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยและมีประสบการณ์ที่ครอบคลุมในการประกอบธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม
บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน เป็นหนึ่งในผู้นำของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี บริษัทมียอดขายที่ดินมากเป็นอันดับสองเมื่อพิจารณาจากยอดขายที่ดินรวมของทั้งประเทศ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉลี่ยที่ระดับ 26.0% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่มีการขายที่ดินมากที่สุดคือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (38.0%) และอันดับสามคือ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (20.0%)
ในปี 2537 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปในประเทศเวียดนามโดยได้พัฒนา Amata City (Bien Hoa) Industrial Estate (ACBH) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศในเมืองเบียนหัว จังหวัดดองไน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมายอดขายที่ดินใน ACBH อยู่ที่ระดับ 70-200 ไร่ต่อปี บริษัทมีรายได้จากการขายที่ดินในประเทศเวียดนามเท่ากับ 320-642 ล้านบาทในปี 2558-2560 หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.0%-31.0% ของรายได้จากการขายที่ดินทั้งหมดของบริษัทในแต่ละปี อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจากการขายที่ดินในประเทศเวียดนามอยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 56.0%-75.0% ในปี 2558-2560 ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2561 นั้นบริษัทมีรายได้จากการขายที่ดินในประเทศเวียดนามจำนวน 316 ล้านบาท ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 75.2%
ความผันผวนของยอดขายที่ดินและวัฎจักรของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
การเติบโตของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน มูลค่าการลงทุนที่ลดลงและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศลดลง ยอดขายที่ดินของบริษัทก็ลดลงด้วยเช่นกัน กล่าวคือ หลังจากยอดขายที่ดินของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 1,200 ไร่ในปี 2556 ก็กลับลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 600 ไร่ในปี 2558-2559 ที่ระดับ 431 ไร่ในปี 2560 และเหลือเพียง 28 ไร่ในไตรมาสแรกของปี 2561 อย่างไรก็ตาม บริษัทจะได้รับอานิสงส์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่กำลังขยายตัวเนื่องจากบริษัทมีที่ดินจำนวนมากถึงประมาณ 10,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง
ฐานรายได้ประจำเพิ่มขึ้นจากธุรกิจสาธารณูปโภค
รายได้ประจำของบริษัทจากธุรกิจสาธารณูปโภคซึ่งครอบคลุมถึงการให้บริการน้ำดิบ น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และบริการบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณลูกค้าและความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท รายได้ประจำจากธุรกิจสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นจาก 1,253 ล้านบาท หรือ 17.0% ของรายได้รวมในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับ 1,789 ล้านบาท หรือ 40.0% ของรายได้รวมในปี 2560 รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคจะเพิ่มมากขึ้นจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าใหม่ 3 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีกำหนดเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในปี 2561
ผลตอบแทนเงินปันผลที่ดีจากธุรกิจโรงไฟฟ้า
สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นจากการมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยบริษัทมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่งร่วมกับ บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด ปัจจุบันกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 229 เมกะวัตต์และจะเพิ่มขึ้นเป็น 260 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2561 นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นผ่านกิจการร่วมทุนสัดส่วนประมาณ 4.0% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ (ABPIF) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า 2 แห่งในจังหวัดชลบุรีอีกด้วย ในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี
ภาระหนี้เพิ่มขึ้นแต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่ในระดับเพียงพอ
แม้ว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น แต่สถานะทางการเงินของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี บริษัทมีเงินกู้รวมจำนวน 9,142 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 เพิ่มขึ้นจาก 6,750 ล้านบาทในปี 2559 เนื่องจากการขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 32.2% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 37.3% ณ เดือนมีนาคม 2561 บริษัทมีแผนการลงทุนจำนวนมากในการซื้อและพัฒนาที่ดินในประเทศไทยรวมถึงพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในประเทศเวียดนามโดยบริษัทมีแผนการลงทุนรวมจำนวน 15,000 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า แม้จะมีการลงทุนจำนวนมาก แต่ก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50.0% ได้
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 18.0%-35.0% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 9-12 เท่า แม้ว่ายอดขายที่ดินจะอ่อนตัวและมีค่าใช้จ่ายเงินลงทุนจำนวนมาก แต่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ 18.0% ในปี 2560 และ 21.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในเณฑ์ดีที่ระดับ 11.9 เท่าในปี 2560 และ 14.4 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจาก 4,491 ล้านบาทในปี 2560 มาอยู่ที่ 6,000 ล้านบาทในปี 2563 เงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาทในช่วงปี 2561-2563 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 2,700-3,000 ล้านบาท บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 800-1,800 ล้านบาทต่อปี ด้วยการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ตลอดจนภาระหนี้ และแผนการลงทุนดังกล่าวจึงคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 11.0%-14.0% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 5 เท่า ในช่วงเดียวกัน
สภาพคล่องของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยบริษัทมีวงเงินกู้ยืมสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ยังไม่เบิกใช้อยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมแล้วอีกจำนวน 2,252 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต่อไปได้ ในขณะที่รายได้ประจำจากธุรกิจบริการสาธารณูปโภค รวมทั้งเงินปันผลจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และรายได้ค่าเช่าโรงงานอุตสาหกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานให้แก่บริษัทได้บางส่วนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทและอันดับเครดิตหุ้นกู้อาจได้รับการปรับลดลงได้หากการแข่งขันทวีความรุนแรงหรือความต้องการในการลงทุนที่อ่อนตัวลงมีผลกระทบทำให้รายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องโดยที่บริษัทยังสามารถรักษาโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้