นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้เดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.บีทีเอส โฮลดิ้งส กรุ๊ป (BTS) เปิดเผยว่า บริษัทได้เพิ่มมาตรการในกรณีมีการประกาศเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องทำให้เกิดความล่าช้าเกิน 30 นาที ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย โดยผู้ใช้บัตรโดยสารประเภท ตั๋วเที่ยวเดียว (Single Journey Ticket) สามารถนำบัตรโดยสาร มาขอคืนเงินค่าโดยสารได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วภายในวันเดียวกัน หรือ ขอรับบัตรโดยสารกลับไป โดยสามารถนำมาใช้เดินทางได้ภายใน 14 วันนับจากวันที่ออกบัตร
กรณีที่เป็นบัตรโดยสารประเภท แบบเติมเงิน สำหรับบุคคลทั่วไป หรือนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สูงอายุ (Rabbit Card) บัตรโดยสารจะไม่ถูกตัดเงินค่าโดยสาร ในกรณีที่เกิดความล่าช้า โดยผู้โดยสารจะต้องออกประตูที่เจ้าหน้าที่สถานีกำหนด สำหรับผู้ถือ บัตรโดยสารบีทีเอส ประเภทเที่ยวเดินทาง 30 วัน สำหรับบุคคลทั่วไป หรือนักเรียน นักศึกษา (30-day Pass) บัตรโดยสารจะไม่ถูกตัดเที่ยวเดินทาง โดยผู้โดยสารจะต้องออกประตูที่เจ้าหน้าที่สถานีกำหนด และจะเพิ่มเที่ยวเดินทางพิเศษให้จำนวน 2 เที่ยวต่อวันที่เกิดความล่าช้า
สำหรับมาตรการคืนค่าโดยสารให้กับผู้ใช้บริการกรณีเกิดความล่าช้าเมื่อวันที่ 25-27 มิถุนายน 2561 ดังนี้ ผู้ใช้บัตรโดยสารประเภทตั๋วเที่ยวเดียวสามารถนำกลับมาใช้ได้ภายใน 14 วัน หากกรณีไม่ต้องการเดินทางสามารถขอคืนเงินได้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 สำหรับบัตรโดยสารประเภทแบบเติมเงิน สำหรับบุคคลทั่วไป หรือนักเรียน นักศึกษา หรือผู้สูงอายุ (Rabbit Card) ผู้ใช้บัตรในช่วงที่มีความล่าช้า สามารถมาขอรับเที่ยวเดินทางพิเศษ จำนวน 3 เที่ยว และสำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดินทาง 30 วัน สำหรับบุคคลทั่วไป หรือนักเรียน นักศึกษา (30-day Pass) ที่มีเที่ยวเดินทางคงเหลือในช่วงที่เกิดความล่าช้า สามารถมาขอรับเที่ยวเดินทางพิเศษ จำนวน 6 เที่ยว โดยผู้โดยสารสามารถนำบัตรโดยสารมาติดต่อขอรับการเติมเที่ยวเดินทางพิเศษได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารสถานีบีทีเอสทุกสถานี ตั้งแต่ วันที่ 7 - 31 กรกฎาคม 2561 และสามารถใช้เดินทางได้ภายใน 45 วันนับจากวันที่มาเติมเที่ยวพิเศษ และจะมีอายุการใช้งานอีก 30 วันนับจากการใช้เที่ยวพิเศษเดินทางครั้งแรก
นอกจากนี้บริษัทเตรียมเปิดช่องทางใหม่ในการแจ้งข้อมูลการให้บริการโดยจะมี Application ในชื่อ ‘BTS SkyTrain’ ให้ Download ทั้งใน Apple App Store และ Google Play Store ซึ่งบริษัทฯ จัดทำขึ้นโดยมีจุดเด่นที่สุดอยู่ที่ การแจ้งเหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้อง และการแจ้งความหนาแน่นของแต่ละสถานีแบบ Real Time เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับทราบข้อมูลก่อนใช้บริการ โดยคาดว่า Application นี้จะพร้อมใช้งานในวันที่ 1 สิงหาคม 2561
"เหตุการณ์รถไฟฟ้าบีทีเอสที่เกิดเหตุขัดข้องติดต่อ 3 วัน (25-27 มิ.ย.) นั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ เห็นว่าไม่ควรเป็นความผิดของทุกฝ่าย ทั้งบีทีเอส ทีโอที ดีแทค และกสทช. ทั้งนี้ บีทีเอสในฐานะผู้ให้บริการ เข้าใจถึงผลกระทบต่อผู้โดยสาร ก็ต้องขออภัยกับผู้โดยสาร โดยในช่วงที่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสมา 19 ปี บีทีเอสไม่เคยเกิดเหตุขัดข้องมากขนาดนี้ และก็ได้ใช้คลื่น 2400MHz มาโดยตลอด แต่ขณะนี้ได้มีการใช้งานใกล้เคียงคลื่นนี้ ดังนั้นบริษัทได้สั่งนำเข้าอุปกรณ์กรองสัญญาณเพิ่มเติมเพื่อติดตั้งในตัวรถโดยในวันพรุ่งนี้จะถึงกรุงเทพฯและจะติดตั้งทดลองให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้เพื่อให้เกิดความเสถียรในการเดินรถ ซึ่งขณะนี้มีการเดินรถกระตุกเป็นบางช่วง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก ทั้งนี้ได้เพิ่มจากที่บริษัทได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณระบบวิทยุสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณที่ได้เร่งติดตั้งได้ครบแล้วในคืนวันศุกร์ที่ 29 มิย.ที่ผ่านมา โดยบอมบาดิเอร์จะเข้ามาดูแลด้วย"นายคีรี กล่าว
ปัจจุบันรถไฟฟ้าวิ่งล่าช้า สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาคอขวดสถานีสะพานตากสินที่มีรางเดี่ยวทำให้การเดินรถต้องชะลอไป
"ผมก็ไม่ยอมรับว่า บีทีเอสผิด 100% แต่เรามีมาตรการชดเชยช่วง 3 วันที่รถมีปัญหาขัดข้อง อย่าให้บริษัทต้องรับทุกอย่าง ...ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา แต่เราคืนเงินให้"
ทั้งนี้นายคีรี คาดว่า บีทีเอสจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20-30 ล้านบาทในมาตรการคืนค่าโดยสารกรณีล่าช้า
นายคีรี กล่าวว่า บริษัทได้วางระบบวิทยุสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณในเส้นทางสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) จะใช้คลื่นความถี่ย่าน 5800 MHz โดยมีบอมบาดิเอร์ดูแลระบบด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้หวังผลกำไรจนละเลยการลงทุนเพื่อให้การให้บริการเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่น และหลายอย่างทำเกินมาตรฐาน โดยได้สั่งซื้อรถไฟฟ้าใหม่ 46 ขบวน ๆละ 4 ตู้ ซึ่งจะเข้ามารองรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการที่จะเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งขบวนแรกจะเข้ามาต้นส.ค.นี้ และรองรับสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-คูคต ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ
ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากนี้ถ้ามีการบริการดีขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าจะมีคำชมเชย และก็จะยังปรับปรุงอยู่ต่อเนื่อง และให้ความเชื่อมั่นต่อผู้โดยสาร ขณะที่ปัญหาคอขวดที่สถานีสะพานตากสิน จะทำถนนเพื่อวางรางได้เพิ่ม โดยใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดว่าน่าจะใกล้งานก่อสร้าง
ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องการให้ บีทีเอสสนับสนุนเรื่องเงินทุนในการที่กทม.จะไปรับมอบสินทรัพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ มูลค่าราว 1 แสนล้านบาทนั้น นายคีรี กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการเจรจากันอยู่ ก็มีความเป็นไปได้ว่าบีทีเอสจะลงทุนให้ก่อนโดยแลกกับการขยายอายุสัญญาสัมปทาน
ขณะที่ ผู้ว่ากทม.ได้มีแนวคิดต้องการให้ค่าโดยสารบีทีเอส ไม่เกิน 65 บาท นั้นนายคีรี กล่าวว่า เห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี เพราะเป็นระดับราคาที่ประชาชนสามารถจ่ายได้ จากราคาค่าโดยสารที่เมื่อรวมส่วนต่อขยายไปจะมีราคาสูงสุดที่ 145 บาท แต่ก็ต้องมาเจรจากันว่าใครจะรับภาระนี้ไป