ตลท.เริ่มใช้เครื่องหมาย C วันนี้หวังกระตุกนักลงทุนเพิ่มความระวังคาดเห็นชัดหลังประกาศงบ Q2/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 2, 2018 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มใช้เครื่องหมาย "C" (Caution) ในวันนี้ (2 ก.ค.) คาดหวังนักลงทุนใช้ความระมัดระวังการลงทุน และให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เร่งแก้ไขฐานะการเงิน คาดเห็นผลการใช้มาตรการนี้ชัดเจนขึ้นหลังประกาศงบการเงินไตรมาส 2/61 สิ้นสุด 30 มิ.ย.61 ในราวเดือน ส.ค.นี้

นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลท.ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า การใช้เครื่องหมาย C เป็นมาตรการที่ต้องการเตือนให้นักลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยง และมีความระมัดระวังในการลงทุน ทั้งนี้ ระบบพร้อมที่จะใช้งานตั้งแต่ 2 ก.ค.นี้ โดยหากหลักทรัพย์ใดถูกขึ้นเครื่องหมาย C ผุ้ลงทุนจะต้องซื้อขายด้วยบัญขีเงินสด (Cash Balance)

"จากปัญหาบริษัทจดทะเบียนที่มีความเสี่ยงฐานะการเงิน หรือปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียน ทำให้เกิดมาตรการเครื่องมหาย C ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เมื่อ บจ.เข้าข่าย ก็จะขึ้นเครื่องหมาย C ... วันที่ 2 ก.ค. เป็นวันที่เริ่มมาตรการตามข้อกำหนด ถ้ายังไม่มี บจ.ใดเข้าข่ายก็จะยังไม่มีการประกาศออกมา เราน่าจะเห็นชัดหลังประกาศงบการเงินไตรมาส 2/61"นางสาวปวีณา กล่าว

นางสาวปวีณา กล่าวว่า ตลท.คาดหวังการมีมาตรการขึ้นเครื่องหมาย C จากวัตถุประสงค์หลักนี้ เพื่อต้องการให้ผู้ลงทุนระมัดระวัง ซึ่งก่อนจะออกมาตรการดังกล่าว ตลท.ได้รวบรวมข้อมูลมาพอสมควร โดยกระบวนการดูจากประเด็นปัญหาต่างๆ และได้สอบถาม ขอความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้ตลาดฯได้หารือทั้งบริษัทจดทะเบียน ในส่วนผู้ลงทุน รวมถึงสำนักงาน ก.ล.ต.ที่ต้องขอความเห็นชอบในเรื่องข้อกำหนด เพราะฉะนั้นเป็นการมองหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโบรกเกอร์ด้วย

บริษัทที่เข้าข่ายที่ขึ้นเครื่องหมาย "C"เมื่อเห็นเกิดความเสี่ยง ได้แก่ ฐานะการเงินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยพิจารณาจากส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว และหลังหักส่วนต่ำมูลค่าหุ้น ,สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งแก้ไขงบการเงิน หรือ สั่งให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) , ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นเนื่องจากถูกจำกัดขอบเขตโดยบจ. หรือ กรรมการหรือผู้บริหารของบจ. , ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง, ศาลล้มละลายรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ หรือรับคำฟ้องล้มละลาย

รวมทั้ง บจ.ที่เป็น Cash Company (บจ.มีสินทรัพย์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของเงินสด/หลักทรัพย์ระยะสั้น) และ หน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทประกัน มีคำสั่งที่เปิดเผยเป็นการทั่วไป บจ.แก้ไขฐานะการเงินหรือการดำเนินงาน โดยระงับการดำเนินการบางส่วนหรือไม่ให้ขยายธุรกิจเป็นการชั่วคราว อันส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

"บริษัทที่เข้าเกณฑ์ จะมองความเสี่ยงจากลักษณะของธุรกิจ ฐานะการเงิน และ งบการเงิน หลักๆเป็น 3 เรื่อง ยกตัวอย่าง ฐานะการเงิน ถ้าบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงครึ่งหนึ่งของทุนชำระแล้วก็มองว่าน่าจะมีความเสี่ยง หรือ เป็นบริษัทผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน เนื่องจากถูกจำกัดขอบเขตการทำงานจากผู้บริหาร เราก็มองว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น หรือศาลรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ หรือล้มละลาย ซึ่งเรามองว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนควรระมัดระวังในเรื่องการลงทุน"

นางสาวปวีณา กล่าวว่า เนื่องจากการขึ้นเครื่องหมาย C จะดูจากงบการเงินเป็นหลัก และการเริ่มใช้เครื่องหมาย C ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ ตลท.จะพิจารณาจากงบการเงินไตรมาส 2/61 ซึ่งจะสิ้นสุด 30 มิ.ย.61 เพราะฉะนั้นก็คงต้องรอตัวเลขของงบการเงินไตรมาส 2/61 ที่จะประกาศออกมาในช่วงเดือน ส.ค.นี้

ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลท.อธิบายว่า เครื่องหมาย C เป็นเครื่องหมายที่ดูแลกำกับบริษัทจดทะเบียน ส่วนวิธีการดูแลนักลงทุน ก็คือมาตรการ Cash Balance ที่สืบเนื่องจากมีการซื้อขายผิดปกติ ขณะที่ ตลท.ได้มีการแจ้งการใช้เกณฑ์ Cash Balance กับการซื้อขายในด้านการลงทุน

เมื่อการขึ้นเครื่องหมาย C ดำเนินการเมื่อเกิดเหตุ ดังนั้น การปลดเครื่องหมาย C ขึ้นกับบจ.จะแก้ไขเหตุนั้นได้หรือไม่ ถ้าสามารถแก้ไขได้ ตลท.ก็จะปลดเครื่องหมาย C และแจ้งว่าไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ Cash Balance (ซื้อขายด้วยเงินสด)ด้วย เหมือนกับเครื่องหมาย SP , NP

มาตรการขึ้นเครื่องหมาย C เข้ามาเสริมการกำกับดูแล บจ. เมื่อ บจ. ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เราจะให้บริษัทมาอธิบาย หรือชี้แจงข้อเท็จจริงปัญหาต่างๆ ภายใน 15 วัน หลังจากวันที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย และทุกๆงวดงบรายไตรมาส บริษัทก็ต้องมีหน้าที่อธิบายว่า ปัญหาคืออะไร และได้ดำเนินการแก้ไขไปอย่างไร หากชี้แจงไม่ได้ภายใน 15 วันก็ต้องดูมาตรการขั้นถัดไป และดูสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ว่าเป็นเพราะกรรมการ หรือ ผู้บริหารไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ คงต้องไปดูสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งก็จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป

https://www.youtube.com/watch?v=40xjDngErq4&feature=youtu.be


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ