FSMART วางแผน 3-5 ปีรุกขยายลูกค้าสู่กลุ่มกลาง-บน เดินหน้าเพิ่มตู้พร้อมออกผลิตภัณฑ์-บริการใหม่เกาะกระแสดิจิทัล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 10, 2018 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์ ว่า บริษัทวางนโยบายการดำเนินงานในระยะ 3-5 ปีมุ่งกระจายจุดรับชำระให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และการขยายฐานผู้ใช้บริการไปทุกระดับ จากปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่และแพลตฟอร์มให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ชูจุดแข็งเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญ ทั้งฐานลูกค้าที่ใหญ่ถึง 25 ล้านคน และช่องทางการให้บริการมากกว่า 1.3 แสนตู้

"เรามองว่าสองจุดนี้เราสามารถที่จะหาโอกาสในอนาคตได้หลายๆ อย่าง ซึ่งเราจะหยิบออกมาเรื่อยๆ และให้อยู่ในเทรนด์ของดิจิทัล"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ FSMART เมื่อเดือนก่อน ได้วางทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลังที่จะยังคงเน้นการเพิ่มจำนวนตู้"บุญเติม"เน้นในทำเลที่มีศักยภาพให้เป็นไปตามเป้าหมาย 1 หมื่นตู้ จากขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 1.3 แสนตู้ ซึ่งจะทำให้สิ้นปี 61 จำนวนตู้"บุญเติม"จะเพิ่มเป็น 1.4 แสนตู้ ภายใต้งบลงทุนทั้งปีที่ 300-400 ล้านบาท จึงมั่นใจว่ายอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ (ARPU) จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3.3-3.4 หมื่นบาท/ตู้

"ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเราได้ย้ายตู้เติมเงินบุญเติมไปตั้งใจจุดที่มีคุณภาพมากขึ้น และหลังจากที่เรามีการโยกย้ายแล้ว ครึ่งปีหลังก็จะเป็นช่วงของการเพิ่มตู้ ครั้งนี้จะเป็นการทยอยเพิ่มและหาจุดที่มีคุณภาพจริงๆ และดู ARPU ควบคู่กันไป จะไม่เหมือนกลยุทธ์ในปีที่ผ่านมาที่เราเร่งขยายจุดให้บริการอย่างเต็มที่"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

สำหรับการมองหาทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพของตู้บุญเติมในปีนี้ บริษัทจะเน้นการขยายออกไปยังหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมียอดเติมเงินค่อนข้างสูง ล่าสุดก็ได้ดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อขยายตู้เติมเงินไปในพื้นที่ที่ยังไม่มีตู้เติมเงินแต่มีประชากรจำนวนมาก โดยสามารถขยายตู้เติมเงินไปได้เกือบ 1 พันตู้แล้ว

ขณะที่บริษัทมองว่าแนวโน้มการใช้บริการระบบโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินในครึ่งปีหลังนี้ยังมีโอกาสการเติบโตได้อีกมาก จากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 70-80 ล้านเลขหมาย เป็นเลขหมายประเภทเติมเงินล่วงหน้าราว 60 ล้านเลขหมาย แต่มีลูกค้าที่ใช้บริการผ่านตู้บุญเติมเพียง 25 ล้านเลขหมาย ทำให้บริษัทยังมีช่องทางที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาด จากปัจจุบันบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ 1 ใน 3 ของตลาด หรือคิดเป็นมูลค่ายอดเติมเงินที่ 22%

ส่วนแนวทางการเพิ่มบริการผ่านตู้เติมเงิน"บุญเติม" บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมแผนงานสำหรับธุรกิจใหม่อีก 2-3 ธุรกิจ ได้แก่ การจำหน่ายซิมการ์ดผ่านตู้เติมเงิน และการรับพิสูจน์ตัวตน (Know Your Customer: KYC) ผ่านตู้เติมเงินบุญเติม เป็นต้น คาดว่าน่าจะได้เห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 4/61 และจะขยายการให้บริการไปทั่วประเทศได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/62 เป็นต้นไป

ในด้านธุรกิจการจำหน่ายซิมการ์ด บริษัทเจรจากับค่ายมือถือ 1 ค่าย พบว่าซิมการ์ดที่เป็น Prepaid มียอดขายต่อเดือนอยู่ที่ 3-4 ล้านซิมการ์ด ทำให้ FSMART มองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจจากปัจจุบันที่มีตู้บุญเติมกระจายไปทั่วประเทศ ลูกค้าสามารถซื้อซิมการ์ดจากตู้บุญเติม จากนั้นสามารถลงทะเบียนได้ทันที โดยจะมีอุปกรณ์อ่านบัตรประชาชนและกล้องถ่ายภาพ อีกทั้งยังสามารถเลือกเบอร์ได้ด้วย เมื่อดำเนินการทุกขั้นตอนแล้วจะได้รับซิมการ์ดจากตู้ทันทีพร้อมใช้งาน

ส่วนการรับพิสูจน์ตัวตน บริษัทมองเป็นโอกาสในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและกลุ่มธนาคาร เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่พยายามจะปรับลดสาขาและพนักงานเพื่อก้าวสู่ระบบดิจิทัล โดยเฉพาะการเปิดบัญชีรที่เริ่มเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ขั้นตอนสำคัญยังจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวตนให้ตรงตามบัตรประชาชนที่ใช้เป็นหลักฐาน ซึ่งปัจจุบันบริษัทเจรจากับธนาคารพาณิชย์ 1 รายที่มีผู้เปิดบัญชีต่อเดือนราว 4 แสนบัญชีต่อเดือน

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า จากการเพิ่มบริการผ่านตู้เติมเงินบุญเติม รูปแบบของตู้บุญเติมอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย โดยเป็นการเพิ่มอุปกรณ์เข้ามา เช่น การเปลี่ยนขาตั้งของตู้เติมเงินให้สามารถรองรับอุปกรณ์อ่านบัตรประชาชนและรับซิมการ์ดได้ รวมถึงมีกล้องสำหรับถ่ายรูป

"การขยายการให้บริการผ่านตู้เติมเงินจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เรามีการพึ่งพิงกับธุรกิจเติมเงินมือถือ และเราเริ่มกระโดดไปธุรกิจที่เป็นแบงก์ที่รับฝากเงินเข้าบัญชีเข้าธนาคาร และตอนนี้เรากำลังขยายไปอีก 2 ธุรกิจ ทั้งการขายซิม และ KYC ซึ่งเรามองว่าสองธุรกิจดังกล่าวมีความยั่งยืน เนื่องจากว่าต้องไปที่ตู้ หากเราทำสำเร็จเราจะสามารถขายของชิ้นเล็กๆได้"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายซิมการ์ดไว้ที่ 10% ของยอดขายซิมโดยรวม และตั้งเป้ารายได้จากการรับพิสูจน์ตัวตนผ่านตู้เติมเงินจากการเปิดบัญชีธนาคาร ทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน (Non-bank) ไว้ที่ 10-20 บาท/ครั้ง

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงสร้างรายได้ของ FSMART ในอนาคต นอกเหนือจากธุรกิจให้บริการเติมเงินผ่านตู้ บริษัทยังมีธุรกิจตู้ขายของอัตโนมัติ หรือ เวนดิ้งแมชชีน มองว่าในอนาคตธุรกิจดังกล่าวจะเป็นธุรกิจหลักที่เข้ามาขับเคลื่อนรายได้ เพราะสามารถรวมการขายสินค้าและเติมเงินเข้าด้วยกัน ปัจจุบันเวนดิ้งแมชชีนยังเป็นตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม แต่ในอนาคตบริษัทมีแผนขยายไปจำหน่ายขนมขบเคี้ยว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 3/61 ตั้งเป้าเริ่มจำหน่ายขนม 100 ตู้ ซึ่งจะส่งผลทำให้สิ้นปีนี้บริษัทจะมีตู้เวนดิ้งที่จำหน่ายเครื่องดื่มและขนมรวมเป็น 4 พันตู้ จากปัจจุบันที่มีเฉพาะตู้ขายน้ำดื่มอยู่ที่ 2 พันตู้

"เรามองตรงนี้เป็นเหมือนช่องทางการขาย ที่จากเดิมเป็นรูปแบบของสาขา เหมือนร้านสะดวกซื้อต่างๆ แต่เราจะย่อส่วนลงมาเป็นตู้อัตโนมัติที่สามารถขยับเข้าใกล้ผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น โดยระบบการจ่ายเงินจะทำได้ 2 ระบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ QR Code ซึ่งล่าสุดเราได้จับมือกับทางธนาคารกสิกรไทยสามารถจ่าย QR Code ได้ที่ตู้เวนดิ้ง เป็นลักษณะของพร้อมเพย์ นี่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราพยายามดันให้เกิดขึ้น"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นอกจากนั้น บริษัทยังมีแอพพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ (Be Wallet) เพื่อใช้รองรับการชำระเงินในการซื้อสินค้าจากตู้ขายของอัตโนมัติและธุรกิจที่มีอยู่ โดยขณะนี้มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 5-6 ราย คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1 แสนราย

ขณะเดียวกันบริษัทยังเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและเชื่อมโยงกับโมบายแอพพลิเคชั่นในการชำระเงิน ซึ่งปัจจุบันได้วางแผนงานไว้ทั้งหมดแล้ว หากรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีการใช้งานมากขึ้น บริษัทก็จะเริ่มติดตั้งและให้บริการได้ทันที

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจให้บริการเติมเงินผ่านตู้บุญเติมเป็นหลักราว 70-80% แต่ในอนาคตจะลดลงมาที่ 50% เนื่องจากธุรกิจใหม่ 3-4 ธุรกิจจะมีการเติบโตมากขึ้น

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 คาดว่าจะดีกว่าไตรมาส 1/61 จากยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการย้ายตู้เติมเงินไปในจุดที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนตู้เติมเงิน ขณะที่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากโปรโมชั่นฟรีค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกค้าที่ใช้บริการคนละกลุ่ม โดยในไตรมาสแรกบริษัทมีรายได้จากธุรกิจโอนเงินผ่านตู้ประมาณ 7-8% และในไตรมาส 2/61 ผู้ใช้บริการยังคงเพิ่มขึ้น

สำหรับความคืบหน้าของโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินภายใต้วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 20 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.-17 ต.ค.61 ขณะนี้ได้เข้าซื้อไปแล้วกว่า 19 ล้านหุ้น คงเหลืออีกประมาณ 4-5 หมื่นหุ้น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ หลังจากนั้นบริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

https://www.youtube.com/watch?v=vXfwot-ETA0&t=227s


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ