TPIPP คาดปริมาณขายไฟฟ้า Q2/61 ทำสถิติใหม่รับอานิสงส์ COD เพิ่ม พร้อมหนุนผลงาน H2/61 โตต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 10, 2018 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า บริษัทประเมินภาพรวมปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายได้ในช่วงไตรมาส 2/61 จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 259 ล้านหน่วย เป็นผลจากการบริหารการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประกอบกับนับตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าอีก 2 โรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ 70 เมกะวัตต์ (MW) หรือ TG 6 และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 MW (TG 4) รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 100 MW ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA 90 MW เป็นที่เรียบร้อย โดยบริษัทได้รับ Adder 3.50 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า

"แม้ว่าบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแล้วหลายโรง แต่มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาขาดแคลนขยะที่นำมาใช้แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้ลงทุนขยายโรงคัดแยกขยะและโรงผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ในจังหวัดต่าง ๆ ไว้รองรับ ได้แก่ โรงผลิตเชื้อเพลิง RDF ที่อำเภอนาดี จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่จังหวัดระยอง ซึ่งเริ่มการผลิตเป็นที่เรียบร้อย และยังมีโรงคัดแยกขยะในจังหวัดต่าง ๆ เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา ระยอง อีกด้วย"นายภัคพล กล่าว

ด้านนายภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวว่า บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ COD แล้วทั้งสิ้น 6 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 220 MW โดยตั้งเป้าว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะสามารถผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการ COD โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ TG 6 และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง TG 4 ที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในปัจจุบัน

รวมถึงการทยอย COD โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ-ถ่านหิน 70 MW (TG 7) และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 MW (TG 8) ที่ได้รับการอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนโดยรอบโรงงานเป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการสรุปรายงานและเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าต่อไป โรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงดังกล่าวจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ซึ่งเป็นบริษัท ในราคาเดียวกับที่ต้องซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ