ThaiBMA คาด H2/61 ยอดออกตราสารหนี้ระยะยาว 3.27-3.70 แสนลบ.เชื่อ Fund Flow ไหลกลับหลัง H1/61 ออกไปกว่า 8.19 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 11, 2018 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ประเมินภาวะครึ่งปีหลังจะมีการออกตราสารหนี้ระยะยาวราว 3.27-3.70 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 5.45-6.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้ทั้งปีคาดว่ายอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวจะอยู่ที่ 7.6-8.0 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมีการเข้าซื้อกิจการของกลุ่ม BJC ซึ่งถือว่าเป็นขนาดดีลที่ใหญ่

การออกตราสารหนี้ระยะยาวในปีนี้ยังมีการเติบโตที่ดี เป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ (GDP) ที่มีการปรับประมาณการณ์จาก 4.2% เป็น 4.5% และต้นทุนดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการควบรวมกิจการ (M&A) ของบริษัทขนาดใหญ่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เช่น TBEV, โครงการ One Bangkok, กลุ่ม ICT และ MINT มูลค่ารวม 9.7-1.3 แสนล้านบาท

อีกทั้งในครึ่งปีหลังนี้จะมีตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนครบกำหนดไถ่ถอนราว 2.24 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการ Rollover ประมาณ 53% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น รุ่นอายุ 2 ปี จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ จากดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในระดับคงที่ไปจนถึงช่วงปลายปี 61 แม้ว่าหลายประเทศจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว เนื่องจากเงินเฟ้อในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง มีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงและหนี้ต่างประเทศต่ำ จึงไม่มีแรงกดดันมากนักให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี มีทิศทางขาขึ้นในกรอบจำกัด

ส่วนทิศทางดอกเบี้ย ประเมินว่า แม้ว่าในปีนี้จะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่เชื่อว่าในปี 62 จะขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น การลงทุนภาครัฐ และเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสภาพคล่องในระบบ

"เราอยากเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีหน้า หลังจากอยู่ในระดับต่ำมานาน และเงินเฟ้อก็มีการเร่งตัวขึ้น โดยขยับขึ้นแตะกรอบล่างของเงินเฟ้อเป้าหมายแล้ว ซึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไปอีก คือ การลงทุนภาครัฐก็มีการเบิกจ่ายมากขึ้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ส่วนในครั่งปีหลังนี้เรายังไม่เห็นการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากปัจจัยต่างๆยังไม่เอื้อ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯและจีน ที่ยังส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจ และตลาดทุนมีความผันผวนรุนแรง"

ThaiBMA สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีแรกของปี 61 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีการเติบโตได้ดี มีมูลค่าคงค้างรวม 12.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 11.56 ล้านล้านบาท โดยการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวมีมูลค่ารวม 4.4 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 1.4% โดยผู้ออกในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (ตั้งแต่ A- ขึ้นไป) มีการออกเพิ่มขึ้นกว่า 9% ส่วนผู้ออกกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (ต่ำกว่า BBB- และ Non-rated) มีมูลค่าการออกลดลงและเป็นการออกหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันมากขึ้น (Secured)

ทั้งนี้ตราสารหนี้ระยะสั้น ภาพรวมในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มูลค่าการออกเพิ่มขึ้นกว่า 30% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน และลดลง 9% จากภาค Real sector และลดลง 55% จาก Bank&Finance โดยภาค Real sector ผู้ออกลดการออกตั๋ว BE และหันมาออกในประเภทของหุ้นกู้ระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ออกกลุ่ม Non-rated เป็นกลุ่มที่ออกตั๋ว BE ลดลงมากที่สุด ส่วนผู้ออกกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือดี (สูงกว่า BBB-) มีมูลค่าการออกตั๋ว BE ทรงตัว

ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในครึ่งปีแรกของปี 61 นักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทย โดยมีมูลค่าซื้อสุทธิ 4.36 พันล้านบาท ประกอบด้วยการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว 8.43 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 7.99 หมื่นล้านบาท ทำให้ ณ ครึ่งปีแรก ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 8.43 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.17% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย

ในขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุ โดยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับสูงขึ้น 22 bps. และรุ่นอายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้น 25 bps. จากสิ้นปีที่ผ่านมา

นายธาดา กล่าวว่า เงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งปีแรกเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยคาดว่าในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปีจากนี้ ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งแรงได้ และทำให้เงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ตามเงินทุนไหลออก ส่วนใหญ่จะออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินทุนไหลออกไปแล้ว 8.19 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ