(เพิ่มเติม) AOT คาดรับผลกระทบทัวร์จีนระยะสั้น ยืนเป้าปีนี้โต 9-10%,ลงทุน digital platform 300-400 ลบ.เปิดแอพ Q1-Q2/62

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 12, 2018 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า กรณีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตจำนวนมากในเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานั้น อาจเกิดผลกระทบระยะสั้น 2-3 เดือนต่อกรุ๊ปทัวร์จีนที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ยังอยู่ในข่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (low season) ดังนั้น จะต้องติดตามในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ ที่เข้าสู่ตารางบินฤดูหนาวว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนจะลดลงหรือไม่ หากจำนวนเที่ยวบินจากจีนลดลงทั้งในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ก็จะมีหลายสายการบินรอเข้ามาแทนที่ในตารางการบิน

ปัจจุบัน AOT มีจำนวนผู้โดยสารจากจีนมีสัดส่วนสูงสุดที่ 26% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 130 ล้านคนรวมทั้ง 6 ท่าอากาศยาน รองลงมาเป็นผู้โดยสารไทย 18%

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ยังยืนยันเป้าหมายการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในงวดปีนี้ (สิ้นสุด ก.ย.61) เติบโต 9-10% จากปีก่อน โดยในรอบ 8 เดือนของปี 60/61 (ต.ค. 60- พ.ค.61) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท.จำนวน 95,536,222 คน เพิ่มขึ้น 9.88%

อย่างไรก็ตาม นายนิตินัย กล่าวว่า ในระยะยาวไม่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเพียง 10% ของคนจีนที่มีหนังสือเดินทาง 7.5% ของประชากรของจีน และเห็นว่าแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มีหนังสือเดินทาง (Passport) จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เทียบกับมีชาวจีนที่มีขณะที่สหรัฐฯ มีหนังสือเดินทาง 40% ของประชากร และอังกฤษมี 60%

ส่วนการดำเนินการเปิดประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายนิตินัย คาดว่าในปลายเดือน ก.ค.-ต้นเดือน ส.ค.นี้จะออกร่างหลัเกณฑ์การประกวดราคา (TOR) ได้ และจะสามารถดำเนินการประมูลแล้วเสร็จภายในปี 61

นายนิตินัย กล่าวว่า บริษัทเตรียมปรับรูปแบบการให้บริการ การพาณิชย์ และการบริหารงานภายในองค์กร รวมถึงการเชื่อมโยงการทำงานกับองค์กรอื่นให้อยู่บนโลกเสมือนจริง (Digital Platform) ของทั้ง 6 ท่าอากาศยาน ที่คาดใช้งบลงทุน 300-400 ล้านบาท ในการดำเนินการเฟสแรกในไตรมาส 1-2/61 ที่จะให้บริการ 3 ท่าอากาศยานก่อนคือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และ ภูเก็ต โดยจะเปิดตัว AOT Application ตั้งเป้าเบื้องต้นยอดดาวน์โหลดอย่างน้อย 1 ล้านคน โดยแอพฯนี้จะช่วยผู้โดยสารแสดงแผนที่ภายในสนามบิน การให้ข้อมูลต่างๆ โดยระยะต่อไปจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลของท่าอากาศยานในต่างประเทศที่มีความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement : SAA) กับ AOT จำนวน 16 สนามบิน โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก

ปัจจุบัน AOT บริหาร 6 ท่าอากาศยาน ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, หาดใหญ่, เขียงใหม่ และ เขียงราย

"นวัตกรรมถือเป็นหัวใจหลักในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจของ ทอท.ซึ่ง ทอท.ได้ปรับรูปแบบการให้บริการ Digital Platform ไปสู่ยุค Thailand 4.0 รวมถึง ระบบการตัดสินใจในการบริหารท่าอากาศยานร่วมระหว่างหน่วยงาน (Airport Collaborative Decision Making : A-CDM) และการพัฒนา AOT Application ที่จะช่วยการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งช่วยให้การบริการของ ทอท.มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย"นายนิตินัย กล่าว

นอกจากนั้น ทอท.ได้ใช้เวทีนี้ในการหาเครือข่ายการขนส่งผ่านศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าการเกษตรในระดับภูมิภาคต่อไป

ส่วนการรับมอบท่าอากาศยาน 4 แห่งจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาบริหารนั้น นายนิตินัย คาดในเบื้องต้นจะใช้งบลงทุนเพื่อปรับปรุงสนามบินทั้งหมดไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท โดยจะเน้นการปรับปรุงไปที่ท่าอากาศยานอุดรธานีที่มีเป้าหมายจะให้เป็น Hub หรือศูนย์ปฏิบัติการในภาคอีสาน ซึ่ง AOT ยังไม่มี Hub ในภาคอีสาน ซึ่งจะวางมาตรการสากลทั้งด้านความปลอดภัยและความั่นคง (Safety and Security)ขององค์การการบินพลเรือน(IATA) เพื่อรองรับเส้นทางระหว่างประเทศ

อนึ่ง ท่าอากาศยานที่รับมอบจาก ทย. จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวในการประชุมเชิงอภิราย AOT Sister Airport CEO Forum 2018 ว่า ประเทศไทยเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสากรรมการบินและธุรกิจสายการบินรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยว จากข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ในปี 60 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางกว่า 1.3 พันล้านคน เติบโต 7% จากปีก่อน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี และคาดว่าการเดินทางระหว่างประเทศในปีนี้เติบโต 4-5% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีประชากรสัดส่วน 60% ของประชากรโลก

ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่เป็นตัววัดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะเห็นการปรับปรุงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่สำหรับตลาดเกิดใหม่ นับจากนี้ไปถึงปี 64 หรือ 4 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 40%ของจำนวนเงินลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และภายในปี 73 มูลค่าการลงทุนด้านการพัฒนาสนามบินจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และจะเป็นการเติบโตในเอเชียอย่างชัดเจน ได้แก่ จีนและอินเดีย

ส่วนธุรกิจการบินยังมีกลยุทธ์รองรับความต้องการของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยการจัดตั้งเครือข่ายการดำเนินงาน อุทธรณ์ต่อผู้โดยสาร เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการร่างแผนงานและยุทธศาสตร์ เทคโนโลยีเครื่องบินสมัยใหม่มีระยะทางในการบิน ขณะที่ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น และเพิ่มอัตราการรองรับผู้โดยสารที่สนามบินหลักและสนามบินรอง แผนพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าวจะใช้ประโยชน์ได้อีก 20 ปีข้างหน้าเช่นกัน รัฐบาลได้มุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการแข่งขันของทุกฝ่ายที่เน้นความสำคัญและความยั่งยืนของการพัฒนา ประเทศไทยพยายามหาพันธมิตรและร่วมมือกับประเทศต่างๆทั่วโลก จับมือกันและใช้ความท้าทายที่ไม่อาจคาดเดากันได้ ซึ่งไทยได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curse) ที่มีอุตสาหกรรมการบินด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ