เช้านี้ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และบริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัดซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบ.ย่อย ADVANC ได้เข้ามาขอรับเอกสารคำขอเข้าร่วมประมูลคลื่นย่านความถี่ 1800 MHz และคลื่นย่านความถี่ 900 MHz จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ทั้งนี้ กสทช.กำหนดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นเข้าร่วมประมูลในวันที่ 8 ส.ค.จากนั้นวันที่ 15 ส.ค.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ โดยกำหนดให้วันที่ 18 ส.ค.เป็นวันเคาะราคาประมูลคลื่น 900 MHz และ วันที่ 19 ส.ค.เป็นวันเคาะราคาประมูลคลื่น 1800 MHz
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. คาดว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จะเข้ามารับคำขอเข้าร่วมประมูลทั้งสองคลื่นความถี่ราววันที่ 19-20 ก.ค.นี้ เพราะได้รับแจ้งจาก TRUE ว่าต้องรอเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทก่อน และเชื่อว่าผู้ประกอบการทั้งสามรายจะเข้าประมูลคลื่นหลังจากมีการปรับหลักเกณฑ์การประมูลแล้ว
"รับรองว่ารอบนี้มีการยื่นประมูลแน่นอน 99% แต่ถ้าไม่มา จะเก็บไว้ แต่ถ้ามายื่นรายเดียวก็ต้องขยายเวลา 30 วัน แต่ถ้ามายื่น 2 รายก็เคาะได้เลย"นายฐากร กล่าว
นายฐากร ยังกล่าวว่า เมื่อไม่นานทาง DTAC แจ้งมายืนยันมาประมูลคลื่น 900 MHz และแจ้งความประสงค์ถ้า DTAC ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ก็จะขอให้ใช้คลื่น 850 MHz ซึ่งเป็นคลื่นเดิมที่ใช้อยู่ก่อนจนกว่าจะติดตั้งอุปกรณ์คลื่น 900 MHz แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 18 เดือน จากนั้นย้ายไปใช้คลื่น 900 MHz ซึ่งคณะกรมการ กสทช.ได้อนุมัติคำขอดังกล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กสทช.ยังอนุมัติให้ผู้ที่ประมูลชนะคลื่น 1800 MHz ที่ปรับให้เหลือ 5 MHz จากเดิม 15 MHz ซึ่งบางรายอาจจะประมูล 5 MHz หรือ 10 MHz และอนุมัติให้สามารถย้ายคลื่นความถี่ (Reshuffle) หากได้ 5 MHz มารวมกับคลื่นเดิม เพื่อบริหารจัดการคลื่นได้ดีขึ้น
"ทั้ง 3 เรื่องเป็นแรงจูงใจให้มากที่สุด"นายฐากร กล่าว
อย่างไรก็ตาม หาก DTAC ยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz และหากการประมูลเสร็จสิ้นไม่ทันวันหมดอายุสัญญาสัมปทาน 15 ก.ย.61 ทาง DTAC ก็ยังสามารถใช้สิทธิเยียวยาได้ เพราะเมื่อชนะประมูลแล้วยังต้องให้ระยะเวลา 90 วันในการชำระเงินงวดแรก
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC เปิดเผยว่า บริษัทจะให้ที่ปรึกษามาทำประเมินความคุ้มค่าของการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทั้งสองก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยบริษัทจะพิจารณากติการการประมูลและอีกหลายปัจจัย
"เราให้ consult ไปดู แล้วเราต้องเสนอบอร์ดของเราให้เขาพิจารณา จากนั้นถึงจะรู้ position ของเรา จึงยังไม่สามารถตอบได้ขณะนี้...คลื่นความถี่เป็นเรื่องสำคัญ เราเห็นว่าเป็น Resources แต่วันนี้เรายังมีคลื่นเพียงพอให้บริการ"นายสมชัย กล่าว
อนึ่ง สาระสำคัญของหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz กำหนดให้ประมูลคลื่นความถี่รวม 45 MHz โดยแบ่งออกเป็น 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต (20 MHz) ราคาเริ่มต้นการประมูลอยู่ที่ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท
โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดแรกชำระ 50% ของราคาประมูลสูงสุด งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาประมูลสูงสุด และงวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาประมูลสูงสุด กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ชำระเงินค่าประมูลภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล สำนักงาน กสทช.จะริบหลักประกันการประมูลจำนวน 2,500 ล้านบาท และผู้ชนะการประมูลต้องชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 1,875 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาตที่ชนะการประมูล
ส่วนหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz นั้น กำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลเป็น 5 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูล 35,988 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 72 ล้านบาท ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลหนึ่งราย กสทช.จะเปิดรับคำขอรับใบอนุญาตเพิ่มเติมอีก 30 วันนับจากวันที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูล หลังจากครบ 30 วัน หากยังมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียงหนึ่งราย กสทช.จะดำเนินการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเสนอราคาเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง
ในการประมูลครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องวางหลักประกันการประมูล 1,800 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 4 งวด งวดแรก ชำระ 4,020 ล้านบาท งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือทั้งหมด กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ชำระเงินค่าประมูลภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูลจำนวน 1,800 ล้านบาท และผู้ชนะการประมูลต้องชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 5,399 ล้านบาท