นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 สำหรับรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดย PTTOR ให้ความสำคัญกับกระบวนการควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิต จัดเก็บ และจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ให้ได้มาตรฐานตลอดทั้งกระบวนการ
บริษัทผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากคลังน้ำมันลำลูกกา จังหวัดปทุมธานีเพียงแห่งเดียว เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และได้เริ่มจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 แล้วตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมจำนวนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันทั้งสิ้นประมาณ 270,000 ลิตรต่อเดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ประมาณ 30 ตันต่อเดือน หรือ 360 ตันต่อปี และมีแผนจะขยายผลโครงการด้วยการเชิญชวนผู้ประกอบการรถขนส่งรายอื่นเข้าร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้นต่อไป
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานได้หาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ซึ่งมีเป้าหมายในการจำหน่ายที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้นจากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปี เป็น 2 ล้านตันต่อปี
โดยกำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมัน บี 20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ 3 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลต่อการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและค่าโดยสาร รวมถึงค่าครองชีพของประชาชนที่จะลดลงได้อีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาทดลองใช้น้ำมัน บี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่บางยี่ห้อบางรุ่น พบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ อีกทั้งยังทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วันนี้ รมว.พลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ณ บริษัท เอส ซี แคริเออร์ จำกัด อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยกลุ่มเอส ซี นับเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกรายแรกที่เข้าร่วมการใช้บี 20 รองรับการขนส่งสินค้า
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการใช้น้ำมันดีเซลเกือบ 70 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งการตั้งเป้าใช้บี 20 ที่ระดับ 15 ล้านลิตรต่อวัน จะสามารถรองรับการใช้ราวครึ่งหนึ่งของรถบรรทุกที่มีอยู่ทั่วประเทศ 880,000 คัน ขณะที่จะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ส่วนเกิน 5-6 แสนตัน/ปีได้ทั้งหมด
นอกจากนี้กระทรวงยังอยู่ระหว่างการขยายผลการใช้ไปยังกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ บริษัท ทองธารา ขนส่ง จำกัด, บริษัท คุณอนันต์ แอนด์ เค-แมน เซอร์วิส จำกัด ,บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัดท.เที่ยง ขนส่ง
ส่วนการใช้ บี 20 ในรถบขส.หรือรถเมล์นั้น ยังต้องรอผลการทดสอบและการทดลองใช้จริงของรถบรรทุกขนส่งของเอส ซี แคริเออร์ ด้วย เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานเป็นของรัฐจึงต้องศึกษาให้มีผลที่แน่ชัดก่อนหลังจากนั้นจึงจะนำไปหารือกับรมว.คมนาคมต่อไป ส่วนการทดลองใช้บี 10 ในรถไฟนั้นเบื้องต้นนับว่าได้ผลดีมาก แต่ต้องรถผลทดสอบที่จะออกมาอย่างเป็นทางการในเดือนส.ค.ก่อนที่จะขยายผลการใช้เป็น บี 20 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงไม่แนะนำการใช้ บี 20 สำหรับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลทั่วไป เนื่องจากบริษัทรถยนต์ยังไม่ให้การรับรองการใช้ บี 10 อย่างเป็นทางการ และกระทรวงก็ไม่ต้องให้ใน้เป็นการทั่วไปมากนักเพราะจะมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเหลือไม่เพียงพอจากปัจจุบันที่การผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมีราว 2.5 ล้านตัน/ปี โดยเป็นการใช้เพื่อบริโภคราว 1 ล้านตัน/ปี และใช้ด้านพลังงานราว 1 ล้านตัน/ปี ทำให้มีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบราว 5 แสนตัน/ปี
ด้านนายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทเอส ซี เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทเข้าร่วมการใช้บี 20 ในการขนส่งสินค้าครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้ช่วยเหลือเกษตรกรและยังเป็นการร่วมใช้สิทธิประโยชน์ที่การใช้บี 20 จะมีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไป 3 บาท/ลิตร โดยมีเป้าหมายจะใช้บี 20 สำหรับรถบรรทุกจำนวนประมาณ 600 คัน จากที่มีอยู่ทั้งหมด 1,200 คัน เพราะยังต้องคำถึงปริมาณบี 20 ที่จะรองรับการใช้ในอนาคตด้วย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มปตท.เจรจากับผู้ประกอบการขนส่งอีก 2 รายนอกเหนือจากกลุ่มเอส ซี เพื่อให้ร่วมการใช้บี 20 โดยเบื้องต้นกลุ่มเอส ซี จะทดลองใช้สำหรับรถบรรทุก 10 คัน ซึ่งจะใช้บี 20 ราว 20,000 ลิตร/เดือน เพื่อปรับกระบวนการต่าง ๆ และทดสอบการดูแลเครื่องยนต์ในการใช้บี 20 ก่อนจะขยายให้ได้ตามเป้าหมาย 600 คัน
ขณะที่ปัจจุบันปตท.ยังคงสต็อกไบโอดีเซล (บี100) ที่ระดับ 57 ล้านลิตร เพื่อช่วยระบายสต็อกน้ำมันปาล์มดิบของตลาดซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่ PTTOR เป็นผู้ค้ามาตรา 7 ที่จะรับซื้อสต็อก บี100 จากปตท.เพื่อผลิตบี 20 โดย PTTOR จะไม่สต็อกบี 100 เอง เพราะเป็นการแยกความรับผิดชอบที่ชัดเจน โดยปตท.จะเป็นผู้ใหความร่วมมือตามนโยบายของภาครัฐ เนื่องจากปตท.ยังได้สิทธิประโยชน์จากภาครัฐอยู่ ขณะที่ PTTOR ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว โดยปัจจุบันการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ PTTOR จะมีสถานีบริการน้ำมันที่ดูแลทั้งสิ้น 1,600 แห่ง ส่วนปตท.ยังมีสถานีบริการที่ดูแล 76 แห่ง